วันพุธที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2551

แอสเพอร์เกอร์ ผู้ไม่(ยอม)แพ้ และไม่(ยอม)ผิด

เอกลักษณ์ที่ชัดเจนอีกอย่างของผู้เป็น แอสเพอร์เกอร์คือ การไม่ยอมแพ้ และไม่ยอมรับผิด
มีความอดทนต่ำต่อการถูกวิจารณ์ จะทนไม่ได้กับสถานการณ์ที่ทำให้รู้สึกว่าตัวเอง ไม่เก่ง แพ้
ซึ่งมักจะมีผลที่ตามมาคือ พฤติกรรมการโกรธเกรี้ยว การคุมอารมณ์ไม่อยู่ ทำลายข้าวของ หรือ หนีจากสถานการณ์นั้นๆ ทั้งทางกายภาพ เช่น การวิ่งหนี การปลีกตัวเองออกห่างจากสถานการณ์ และ การหนีจากสถานการณ์นั้นๆ ทางจินตภาพ เช่นการสร้างเพื่อนในจิตนาการ เพื่อหาพื้นที่ที่เจ้าตัวรู้สึกสบาย
แอสเพอร์เกอร์จะไม่มีทางที่จะยอมรับว่าตัวเขาผิด ซึ่งจะมีทางออกหลายทางในความผิด เช่น
- การโทษคนรอบข้าง
- การหาเพื่อนในจินตนาการมารองรับความผิด
- การโกหก หรือการตะแบง
- การไม่ยอมรับกฎ หรือทำเป็นไม่เข้าใจกฏ หรือเถียงในกฏระเบียบที่กำหนดขึ้น
- การแสดงความโกรธ หรือก้าวร้าว
- ฯลฯ
เมื่อไม่ยอมรับถึงคำตำหนิ คำวิจารณ์ คำสอน และไม่อดทนต่อสถานการณ์ที่ทำไม่ได้ และรู้สึกว่าตัวเองไม่เก่ง จึงเป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้พอสมควร

สัญญาณของแอสเพอร์เกอร์ มักมาพร้อมกับการทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน ยิ่งมีกิจกรรมร่วมกันมากเท่าไหร่ จะยิ่งสังเกตอาการได้ชัดเจนมากขึ้น เช่น

อาการไม่รู้จักแพ้
- น้องอายุสี่ขวบ เล่นเกมงูตกบันได ขณะที่ตัวเล่นของน้องอยู่หลัง หรือเมื่อตัวเล่นตกในช่องที่โดนงูพาถอยกลับไป น้องจะมีอาการหงุดหงิดชัดเจน อาจมีการโกง การขอยกเว้นกฏ หากไม่ได้จะโกรธและล้มกระดาน แต่เมื่อเล่นครั้งต่อๆ ไปพร้อมอธิบายให้เข้าใจ ก็ดีขึ้น สามารถเล่นจบเกม แต่เมื่อเล่นจบแล้วผลว่าเขาแพ้ จะไม่ยอมและโกรธ มีการทิ้งของเล่น และบอกว่าไม่ชอบเล่นอีกต่อไป
- น้องอายุสี่ขวบ มีการเล่นแข่งกันขึ้นรถ ใครขึ้นรถก่อนชนะ(เพื่อล่อให้น้องขึ้นรถโดยง่ายดาย)ทุกครั้งจะปล่อยให้น้องเป็นผู้ชนะ แต่เมื่อมีใครเผลอขึ้นรถก่อนน้อง น้องจะโกรธ เช่น ร้องไห้ เตะ ตี กัด บ้าง

อาการไม่ยอมรับความพ่ายแพ้- น้องอายุห้าขวบ ขณะที่เรียนเทนนิส ครูจัดให้วิ่งแข่งกับนักเรียนอีกคนหนึ่ง แต่เมื่อวิ่งแข่งแพ้เพื่อน น้องกลับวิ่งออกจากสนาม และบอกว่า เขามีเพื่อนไดโนเสาร์ชื่อซู วิ่งเร็วกว่านี้ และยอมให้เขาขี่ด้วย (เพื่อนจินตนาการ ชื่อซู เป็นไดโนเสาร์)

อาการไม่ทนต่อสถานการณ์ที่เขาไม่เก่ง- น้องอายุห้าขวบ ขณะเรียนเทนนิส น้องเขาเริ่มฝึกตีลูก แต่ตีไม่โดน ขณะที่ผู้ปกครองนั่งข้างสนาม คอยตะโกนบอกว่าให้ตีช้าๆ ตามองลูก เมื่อตีไปซักพัก เขายังทำไม่ได้ อาการหงุดหงิดจึงเริ่มขึ้นด้วยการ ล้มตระกร้าที่ใส่ลูกของคุณครู ขว้างไม้ วิ่งออกจากสนาม พร้อมตะโกนบอกว่า "ทุกคนแกล้งเขา ทำให้เขาตีลูกไม่ได้" และเมื่อน้องโกรธแล้ว จะระงับอารมณ์ยาก การตี การกัดคนรอบข้างจึงมีให้เห็น

อาการไม่ทนต่อคำวิจารณ์ หรือสอน
- น้องอายุห้าขวบ ขณะนั่งรถเที่ยว น้องยังพูดคำบางคำไม่ชัด แต่เมื่อบอกให้พูดให้ชัดหลายๆ ทีเข้า น้องใช้มือตีคนที่สอนอย่างไม่รู้ตัว และเมื่อถามถึงเหตุผล น้องบอกว่า "ไม่ชอบที่มาบอกว่าหนู" ด้วยเสียงและสีหน้าที่เห็นชัดว่าโกรธ

ไม่มีความคิดเห็น: