วันพุธที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2551

ความโกรธ ในผู้เป็นแอสเพอร์เกอร์

ผู้เป็นแอสเพอร์เกอร์ มักมีส่วนของสมอง อมิกดาลา (Amygdala) ทำงานแตกต่างจากคนปกติ ส่งผลเรื่องความสามารถในการควบคุมความโกรธ ทำให้เวลาโกรธสามารถโกรธได้อย่างรุนแรง ไร้สติ และหยุดยาก

นำรูปมาจาก http://thesituationist.files.wordpress.com/2007/06/amygdala.jpg

หากแบ่งความโกรธของคนทั่วไปเป็นระดับสิบระดับ คือ 1-10 (1 หมายถึงโกรธน้อย, 10 หมายถึงโกรธมาก) แต่ในผู้เป็นแอสเพอร์เกอร์จะมีเพียง 1-2 และข้ามไป 9-10 เลย

Graphic by lekparinya

เหมือนกับคนทั่วไป เมื่อความโกรธมาถึงระดับ 9 หรือ 10 แล้ว จะหยุดยาก แม้ว่าทุกสิ่งรอบข้างจะบอกให้หยุดอย่างไรก็ตาม

ความโกรธของผู้เป็นแอสเพอร์เกอร์ อาจแปลเปลี่ยนมาจากความเศร้าได้ โดยในคนปกติเมื่อเศร้า จะระบายออกด้วยการร้องไห้ แต่ผู้เป็นแอสเพอร์เกอร์อาจเปลี่ยนเป็นความโกรธ อาจการขว้างข้าวของเพื่อเป็นการระบาย แม้ว่าจะมีใครมาปลอบใจผู้เป็นแอสเพอร์เกอร์ที่กำลังเศร้าอยู่ แต่เขาจะคิดว่า คำพูดเหล่านั้นช่วยอะไรเขาไม่ได้

เด็กแอสเพอร์เกอร์ (ในวัยอนุบาล) อาจใช้ความโกรธ และความขี้โมโห เพื่อเป็นการบอกให้เพื่อนๆ ห่างจากเขาไป เมื่อต้องการความสงบในบางเวลา เช่น เวลาที่อยากเล่นคนเดียว หรือไม่อยากถูกขัดจังหวะในสิ่งที่เขาสนใจอยู่

เมื่อเด็กแอสเพอร์เกอร์ถูกเพื่อนล้อเลียน เขาจะบอกให้เพื่อนหยุด แต่หากไม่หยุด เขาอาจจะใช้วิธีที่รุนแรงเนื่องจากเขาไม่รู้วิธีประณีประนอมที่เหมาะสมกว่านั้น

เมื่อผู้เป็นแอสเพอร์เกอร์โกรธถึงระดับ 9-10 แล้ว ทำอย่างไรดี?
·ไม่ควรจับ หรือยึดตัว เพราะทำให้โกรธมากขึ้น
·ไม่ควรดุ ไม่ควรขู่ ไม่ควรทำเสียงสูง ไม่ควรลงโทษ เพราะทำให้โกรธมากขึ้นได้
·เลี่ยงการเผชิญหน้า ไม่คาดคั้นว่าเกิดอะไรขึ้น เพราะทำให้โกรธมากขึ้น
·ไม่ถามว่าทำไมโกรธ เพราะผู้เป็นแอสเพอร์เกอร์มีความยากลำบากในการอธิบายความรู้สึก
·ผู้อยู่รอบข้าง ควรจะเงียบ ไม่พูดต่อความในสิ่งเดิม ดึงเขาออกมาให้อยู่ในที่สงบๆ และให้เบี่ยงเบนความสนใจไปในสิ่งที่เขาสนใจ

เมื่อความโกรธถูกเบี่ยงเบนความสนใจ ความโกรธสามารถลดลงจากระดับ 9-10 มาเป็น 1-2 ได้ทันที
จนดูเหมือนว่าเขาไม่เคยโกรธมาก่อน

ธรรมชาติแอสเพอร์เกอร์

ธรรมชาติของเด็กแอสเพอร์เกอร์ (ที่แตกต่างจากเด็กทั่วไป)

เด็กแอสเพอร์เกอร์มีธรรมชาติที่แตกต่างจากเด็กทั่วไป โดยอาจมีอาการต่างๆ กันหลายแบบ หรือรวมกันได้ (ไม่จำเป็นต้องมีครบทุกอาการ) ดังนี้

Hyperactive (ไฮเปอร์แอคทีฟ - อาการซุกซน ไม่อยู่นิ่ง พลังมากกว่าเด็กปกติ)
มักเกิดขึ้นเมื่อเด็กแอสเพอร์เกอร์เข้าสังคม หรือเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมใหม่ โดยเด็กแอสเพอร์เกอร์มักจะมีอาการไม่สามารถอยู่นิ่งได้ เนื่องจากมีความตื่นเต้น กังวล ทำให้หลายครั้งอาจถูกวินิจฉัยว่าเป็น “สมาธิสั้น”
แนวทางช่วยเหลือ
การแนะนำสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่คน สถานที่ ฯลฯ (Orientation) ในสิ่งแวดล้อมใหม่ทุกครั้งมีความจำเป็นกับเด็กแอสเพอร์เกอร์ และจำเป็นต้องให้โอกาสในช่วงแรกเพื่อการปรับตัว

Language Disorder (อาการบกพร่องในทักษะที่ซับซ้อนทางภาษา)
เด็กแอสเพอร์เกอร์
มีความสามารถในการเรียนรู้ และใช้คำศัพท์ การออกเสียง และหลักไวยาการณ์ได้ตามปกติ แต่มีปัญหาในเรื่องการเลือกใช้บทสนทนา อาจมีการใช้ภาษาที่สูงเกินกว่าระดับปกติ เช่น ใช้ภาษาของผู้ใหญ่ในการพูดกับเพื่อน หลายครั้งพบว่า เด็กแอสเพอร์เกอร์ชอบพูดเสียงที่มีโทน และจังหวะการพูดที่แปลกกว่าเด็กทั่วไป
เด็กแอสเพอร์เกอร์ มีความบกพร่องในการแปลความหมายของบทคู่สนทนา การแปลความหมายคำพูดแบบตรงไปตรงมา เช่น การไม่เข้าใจความหมายของประโยคการประชดประชัน คำเสียดสี ฯลฯ
แนวทางช่วยเหลือ
ฝึกฝนการใช้ภาษาที่ถูกต้อง อาจจำเป็นต้องให้พูดตาม หรือพูดซ้ำเพื่อฝึกการใช้ภาษาถูกต้องมากขึ้น โดยผู้สอน ไม่ว่าครู หรือผู้ปกครองจำเป็นต้องมีความอดทนสูง

Movement Disorder (อาการบกพร่องในการเคลื่อนไหว)
เด็กแอสเพอร์เกอร์ มีพัฒนาการในเรื่องการประสานการทำงานของอวัยวะ หรือความคล่องแคล่วในการใช้มือช้ากว่าปกติเล็กน้อย เช่น ผูกเชือกรองเท้าไม่ได้ ขี่จักรยานไม่ได้ จับลูกบอลไม่แม่น ลายมือไม่สวย มีการเดิน-วิ่งที่ไม่สมบูรณ์
เด็กแอสเพอร์เกอร์บางคนพบว่ามีปัญหาเชื่อมกับการเคลื่อนไหว (Motor tics) เช่น การขยิบตา-กระพริบตาบ่อย ฯลฯ และบางคนพบในการพูด (Vocal tics) อาจมีกการพูดบางอย่างออกไปโดยไม่ได้ตั้งใจ
แนวทางช่วยเหลือ
ฝึกฝนการทำกิจกรรมต่างๆ ที่ส่งเสริมการใช้กล้ามเนื้อที่ประสานกัน เช่น การโยน-รับลูกบอลหรือการช่วยงานบ้านเล็กๆ น้อยๆ

Mood Disorder (ความวุ่นวายทางอารมณ์)
เมื่อเกิดสถานการณ์ไม่ปกติ ทำให้เด็กแอสเพอร์เกอร์มีความเครียด ความกังวล เด็กแอสเพอร์เกอร์จะมีการแสดงออกแบ่งเป็นสองลักษณะ คือ
1. อาการตื่นตัวตลอด วิตกกังวล ทำให้เด็กแอสเพอร์เกอร์อาจจะเหนื่อยเกินไป
2. หรือกังวลมากไปจนไม่ยอมไปโรงเรียน อาการเงียบ ไม่พูดที่โรงเรียน
ซึ่งในความคิด อาจมีแนวคิดเป็นสองแบบคือ
1. Internalized (I’m stupid) อาการซึมเศร้า ตำหนิตัวเองถึงความแตกต่าง
2. Externalized (It’s your fault) บางคนตำหนิคนอื่น แสดงออกมาเป็นการโกรธคนรอบข้าง เมื่อตัวเองไม่สามารถเข้าใจในสถานการณ์นั้น
แนวทางช่วยเหลือ
การจำลองสถานการณ์ไม่พึงประสงค์ให้ฝึก ก่อนเจอเหตุการณ์จริง อาจลดความกังวลได้

Eating Disorder (การควบคุมการรับประทานไม่ได้)
เด็กอาจมีการปฏิเสธอาหารบางอย่าง เนื่องจากมีรส กลิ่น รูปร่างพิเศษ เนื่องจากเด็กมีความไวต่อประสาทสัมผัสบางอย่างมากกว่าปกติ หรือในทางกลับกัน เด็กอาจชอบทานอาหารบางอย่างมากเป็นพิเศษ บางรายมาด้วยอาการซูบผอม เนื่องจากเลือกกินมากเกินไป
แนวทางช่วยเหลือ
สังเกตพฤติกรรมการรับประทานอาหารว่ามีความผิดปกติ เช่นการเลี่ยง หรือการรับประทานอย่างใดอย่างหนึ่งเกินปกติหรือไม่

Non-Verbal Learning Disability (เด็กมีความไม่เข้าใจในภาษาท่าทาง)
เด็กแอสเพอร์เกอร์มีความเข้าใจในภาษาพูดได้ตามปกติ แต่มักไม่เข้าใจภาษาท่าทาง เช่น ถ้าคนทำหน้าบึ้งใส่ เด็กจะไม่เข้าใจ แต่ถ้าพูดว่าโกรธจึงจะเข้าใจ การกวักมือเรียกอย่างเดียวเด็กอาจไม่เข้าใจจำเป็นต้องเรียก และบอกให้มาหา
แนวทางช่วยเหลือ
จำเป็นต้องสอนให้เด็กเข้าใจถึงภาษาท่าทาง และการอ่านสีหน้าของคน เช่นการให้วาดรูปสีหน้าคนทำอารมณ์ต่างๆ การให้ทายลักษณะท่าทางกับความหมาย

เด็กแอสเพอร์เกอร์จะสบตาคนไม่เป็น โดยเฉพาะในการพูดคุย เด็กแอสเพอร์เกอร์จะไม่สบตาคนที่คุยด้วย อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่า เด็กไม่สนใจ ไม่เชื่อฟังคำสั่ง ดื้อ และพูดไม่รู้เรื่อง
แนวทางช่วยเหลือ
จำเป็นต้องใช้เสียงเรียกให้สบตาขณะพูดคุยด้วย และเรียกให้สนใจฟังถึงสิ่งที่พูดหรือออกคำสั่ง อาจต้องเน้นย้ำว่าเข้าใจหรือไม่ และเข้าใจว่าอย่างไรและตรงกับสิ่งที่ผู้ที่สั่ง หรือสื่อสารต้องการหรือไม่

Conduct or Personality Disorder (ความประพฤติ หรือ บุคลิกที่ผิดปกติ)
เด็กแอสเพอร์เกอร์ ชอบทำตัวเป็นผู้ใหญ่เมื่ออยู่กับเพื่อนวัยเดียวกัน (จะชัดเจนมากขึ้นในกรณีเด็กแอสเพอร์เกอร์ไอคิวสูง) โดยอาจทำตัวเป็นผู้ช่วยคุณครู เป็นผู้ควบคุมกฎ คอยคุมความประพฤติของเพื่อนๆ หรืออาจไปถึงทำตัวข่มเพื่อนๆ ทั้งการใช้กำลัง และไม่ใช้กำลัง
แนวทางช่วยเหลือ
ไม่ควรส่งเสริมพฤติกรรมนี้ เพราะยิ่งจะส่งเสริมความแตกต่างจากเพื่อน และการไม่อยู่ในกฏระเบียบมากขึ้น อาจจำเป็นต้องใช้การอธิบายยกตัวอย่าง ยกเหตุผลให้เข้าใจ และไม่ทำพฤติกรรมแบบนี้

เด็กแอสเพอร์เกอร์ไม่ยอมรับผิด ไม่ยอมรับว่าตัวเองผิด บกพร่อง ไม่ชอบถูกวิจารณ์ หรือถูกแนะนำ หากอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ เช่น การไม่เป็นที่ยอมรับ การที่แตกต่างจากเพื่อน ซึ่งอาจส่งผลให้มีพฤติกรรมตอบสนอง เช่น การโกหก แสดงอาการโกรธ แสดงอาการก้าวร้าว อาการโทษว่าเป็นความผิดคนอื่นได้
แนวทางช่วยเหลือ
หากเด็กแอสเพอร์เกอร์ทำผิด การวิจารณ์ตรงๆ หรือการว่ากล่าวโดยตรงจำเป็นต้องหลีกเลี่ยง เนื่องจากจะไปเพิ่มความโกรธ อาการไม่ยอมรับความผิด ควรใช้วิธีการพูดคุย และถามถึงเหตุผลว่าทำไมถึงยืนยันในเหตุผลนั้นๆ และพูดถึงความเป็นไปได้อื่นๆ ที่เป็นไปได้นอกเหนือจากที่ตัวเด็กแอสเพอร์เกอร์เข้าใจ เช่น การให้เขายอมรับว่าการสอน การวิจารณ์เป็นสิ่งที่จะทำให้เขาเก่งขึ้น และมีแต่คนที่เป็นห่วง และรักเขาเท่านั้นที่จะสอน จะวิจารณ์ และให้พยายามยอมรับในความรัก และเป็นห่วงนี้
ข้อดีของความหัวรั้น และไม่ยอมผิดสามารถทำให้เป็นด้านดีได้ โดยการให้เขาพัฒนาความมีเหตุผลที่คนอื่นยอมรับ ซึ่งอาจพัฒนาเป็นอาชีพที่จำเป็นต้องใช้การถกเถียง การแก้ต่าง ในอนาคตได้ เช่น นักพูด ทนายความ ฯลฯ

เด็กแอสเพอร์เกอร์ไม่ยอมแพ้ เขาจะไม่ยอมรับในความไม่เก่ง หรือสู้ไม่ได้ของเขา เป็นหนึ่งในสถานการณ์ไม่พึงประสงค์ ซึ่งอาจมีพฤติกรรมเช่น
- การเข้าไปอยู่กับเพื่อน หรือโลกในจินตนาการที่เขามีความสำเร็จมากกว่า เด็กแอสเพอร์เกอร์เขาทำไปเพื่อให้เขารู้สึกผ่อนคลายขึ้น (การมีเพื่อนหรือโลกจินตนาการไม่เป็นสิ่งปกติในเด็ก แต่จะเริ่มผิดปกติเมื่อโลกจินตนาการมีส่วนในการดำรงชีวิตมากกว่าโลกแห่งความจริง)
- การโทษสิ่งแวดล้อม โทษคนรอบข้าง ในสถานการณ์ที่ตัวเองไม่ชอบ อาจมีอาการโกรธ ก้าวร้าวจนควบคุมตัวเองไม่อยู่
แนวทางช่วยเหลือ
สอนให้เด็กแอสเพอร์เกอร์รู้ว่าไม่จำเป็นต้องเก่ง ต้องทำถูก ต้องชนะเสมอไป เช่นการยอมรับความจริงที่ว่าไม่มีใครทำถูก หรือชนะตั้งแต่ครั้งแรก ต้องแพ้เป็นก่อนถึงจะชนะได้ ฯลฯ
หากเด็กเริ่มมีโลกจินตนาการที่ชัดเจน และเริ่มนำมาใช้บ่อยครั้งขึ้น สามารถนำกลับมาสู่โลกความเป็นจริง เช่น การอ่านหนังสือให้ฟัง การเล่าเรื่องของประเทศต่างๆ ซึ่งจะเสริมให้เด็กมีจินตนาการ และอาจพัฒนาเป็นอาชีพ เช่น นักเขียน นักวาดภาพได้ในอนาคต

เด็กแอสเพอร์เกอร์ มักทำตัวเป็นศูนย์กลางของทุกอย่าง (Self-Centric) เช่น มักพูดถึงตัวเองอยู่เสมอ การไม่สนใจความคิดเห็นของคนอื่น (โดยเฉพาะเพื่อนวัยเดียวกัน) การถามถึงเหตุผลในกฏต่างๆ ซึ่งอาจทำให้คนรอบข้างคิดว่าเด็กเป็นก้าวร้าว หัวดื้อ
แนวทางช่วยเหลือ
ควรฝึกให้เด็กแอสเพอร์เกอร์เข้าใจถึงกฏระเบียบ และให้ทำพฤติกรรมที่ถูกต้องในการเข้าสังคม การสร้างกฏเกณฑ์ให้ตัวเด็กแอสเพอร์เกอร์มีความสำคัญ มีบทบาทรับผิดชอบในการทำงานที่มีผลกับผู้อื่น และคนอื่นจะได้รับผลกระทบหากไม่กระทำตามกฏนั้นๆ เช่น การสอนเด็กแอสเพอร์เกอร์ให้สนใจในความคิดของคนอื่น การสอนบทสนทนาเบื้องต้นในการเข้าสังคมโดยสนใจเพื่อนๆ

เด็กแอสเพอร์เกอร์ มีความรู้ลึก และสนใจเฉพาะด้าน
หลายคนมีความจำที่มากกว่าเด็กปกติทั่วไป อาจจดจำเรื่องที่สนใจได้อย่างมาก และรู้ลึกรู้จริง แต่เมื่อรวมกับการทำตัวเป็นศูนย์กลาง อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เข้าสังคมลำบาก เนื่องจาก เมื่อคุยกับเพื่อนจะเล่าแต่ความสนใจของตัวเอง จนเพื่อนๆ เบื่อ ไม่ชอบเล่นด้วย
แนวทางช่วยเหลือ
ควรสังเกตพฤติกรรมความสนใจ ว่าสนใจเรื่องใดเรื่องหนึ่งเกินกว่าปกติหรือไม่ และอาจจำเป็นต้องเก็บซ่อนสิ่งที่เริ่มสนใจอย่างหมกมุ่นไปบ้าง และหาสิ่งที่น่าสนใจอย่างอื่นมาชดเชย

เด็กแอสเพอร์เกอร์ ควบคุมอารมณ์ไม่เก่ง แสดงสีหน้าไม่เป็น
เด็กแอสเพอร์เกอร์เสแสร้งไม่เป็น มักพูดตรงๆ ซื่อๆ หลายคนมองว่าเป็นเด็กน่ารัก แต่เมื่อเขาโกรธ หรืออยู่ในสถานการณ์ไม่พึงประสงค์ อาจมีอาการก้าวร้าว พฤติกรรมรุนแรง
แนวทางช่วยเหลือ
ช่วงแรกอาจจำเป็นต้องเลี่ยงสถานการณ์การยั่วยุให้โกรธ ขณะเดียวกันจำเป็นต้องค่อยๆ ปรับพฤติกรรมการควบคุมอารมณ์ เช่น การฝึกให้รู้ตัวว่าอารมณ์เริ่มโกรธ ให้รู้ระดับของความโกรธ และพัฒนาจนให้เขาสามารถจัดการอารมณ์ได้ แต่จำเป็นต้องอาศัยเวลาในการฝึกฝน

วันศุกร์ที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2551

ที่มาของชื่อ Asperger

ที่มาของชื่อแอสเพอร์เกอร์ ซินโดรม (Asperger's Syndrome)
คำว่า แอสเพอร์เกอร์ซินโดรม มีที่มาจากชื่อของ ดร.ฮานส์ แอสเพอเกอร์ (Han Asperger) คุณหมอที่สังเกต ค้นพบ และพยายามวินิจฉัยกลุ่มของเด็กลักษณะนี้เมื่อปี ค.ศ.1944 แต่มาใช้เรียกเป็นชื่อกลุ่มอาการนี้เมื่อประมาณปี 1994

แอสเพอร์เกอร์ซินโดรมเป็นหนึ่งกลุ่มอาการ PDD (Pervasive Developmental Disorders) โดยอัตราการพบ 0.3 – 8.4 คน ใน 10,000 คน พบได้ทั้งในเด็ก และผู้ใหญ่

แอสเพอเกอร์กับประเทศไทย ยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก และปัจจุบันไม่มีชื่อที่แปลเป็นภาษาไทย บทความและการศึกษายังอยู่ในวงจำกัด แม้ในระดับผู้เชี่ยวชาญก็ตาม เพราะในต่างประเทศก็เพิ่งได้รับการพูดถึงในวงกว้างเมื่อประมาณไม่ถึงสิบปีมานี้

เด็กที่เป็นแอสเพอร์เกอร์ซินโดรม (ขอเรียกว่า เด็กแอสเพอร์เกอร์) ส่วนใหญ่จะสมองดี บางคนมีไอคิวสูงกว่าเด็กทั่วไปมากเนื่องจากเป็นการชดเชยทักษะทางสังคมที่จะด้อยกว่าเด็กทั่วไป เช่น การพูดจาไม่เหมาะสม การเข้ากับเพื่อนได้ยาก ไม่เข้าใจกติกา

ในต่างประเทศ (และเป็นไปได้สำหรับประเทศไทย) หลังจากมีการจัดกลุ่ม และตั้งเกณฑ์การวินิจฉัยแล้ว กลับพบว่ามีการพบผู้ใหญ่ที่เป็นแอสเพอร์เกอร์แต่ไม่รู้ตัวจำนวนมาก ซึ่งหลายคนมีชีวิตที่ลำบากเนื่องจากความไม่เข้าใจของคนรอบข้าง และสังคม

ปัจจุบันมีการวิจัยที่ยืนยันว่า การรู้และยอมรับเด็กแอสเพอร์เกอร์ตั้งแต่ก่อนปฐมวัย ประกอบกับใช้เทคนิคการสอนที่เหมาะสมบนพื้นฐานของความเข้าใจธรรมชาติเด็กแอสเพอร์เกอร์ จะช่วยให้เขาสร้างทักษะทางสังคม และปรับพฤติกรรมให้ใกล้เคียงกับเด็กปกติ และเป็นที่ยอมรับได้ตามปกติ

เด็กที่เป็นแอสเพอร์เกอร์ ไม่ใช่เด็กที่ป่วย หรือเป็นปัญหา
แต่มีความต่างในกระบวนการคิด และตรรกะที่แตกต่างไป

วันพุธที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2551

แอสเพอร์เกอร์ ผู้ไม่(ยอม)แพ้ และไม่(ยอม)ผิด

เอกลักษณ์ที่ชัดเจนอีกอย่างของผู้เป็น แอสเพอร์เกอร์คือ การไม่ยอมแพ้ และไม่ยอมรับผิด
มีความอดทนต่ำต่อการถูกวิจารณ์ จะทนไม่ได้กับสถานการณ์ที่ทำให้รู้สึกว่าตัวเอง ไม่เก่ง แพ้
ซึ่งมักจะมีผลที่ตามมาคือ พฤติกรรมการโกรธเกรี้ยว การคุมอารมณ์ไม่อยู่ ทำลายข้าวของ หรือ หนีจากสถานการณ์นั้นๆ ทั้งทางกายภาพ เช่น การวิ่งหนี การปลีกตัวเองออกห่างจากสถานการณ์ และ การหนีจากสถานการณ์นั้นๆ ทางจินตภาพ เช่นการสร้างเพื่อนในจิตนาการ เพื่อหาพื้นที่ที่เจ้าตัวรู้สึกสบาย
แอสเพอร์เกอร์จะไม่มีทางที่จะยอมรับว่าตัวเขาผิด ซึ่งจะมีทางออกหลายทางในความผิด เช่น
- การโทษคนรอบข้าง
- การหาเพื่อนในจินตนาการมารองรับความผิด
- การโกหก หรือการตะแบง
- การไม่ยอมรับกฎ หรือทำเป็นไม่เข้าใจกฏ หรือเถียงในกฏระเบียบที่กำหนดขึ้น
- การแสดงความโกรธ หรือก้าวร้าว
- ฯลฯ
เมื่อไม่ยอมรับถึงคำตำหนิ คำวิจารณ์ คำสอน และไม่อดทนต่อสถานการณ์ที่ทำไม่ได้ และรู้สึกว่าตัวเองไม่เก่ง จึงเป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้พอสมควร

สัญญาณของแอสเพอร์เกอร์ มักมาพร้อมกับการทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน ยิ่งมีกิจกรรมร่วมกันมากเท่าไหร่ จะยิ่งสังเกตอาการได้ชัดเจนมากขึ้น เช่น

อาการไม่รู้จักแพ้
- น้องอายุสี่ขวบ เล่นเกมงูตกบันได ขณะที่ตัวเล่นของน้องอยู่หลัง หรือเมื่อตัวเล่นตกในช่องที่โดนงูพาถอยกลับไป น้องจะมีอาการหงุดหงิดชัดเจน อาจมีการโกง การขอยกเว้นกฏ หากไม่ได้จะโกรธและล้มกระดาน แต่เมื่อเล่นครั้งต่อๆ ไปพร้อมอธิบายให้เข้าใจ ก็ดีขึ้น สามารถเล่นจบเกม แต่เมื่อเล่นจบแล้วผลว่าเขาแพ้ จะไม่ยอมและโกรธ มีการทิ้งของเล่น และบอกว่าไม่ชอบเล่นอีกต่อไป
- น้องอายุสี่ขวบ มีการเล่นแข่งกันขึ้นรถ ใครขึ้นรถก่อนชนะ(เพื่อล่อให้น้องขึ้นรถโดยง่ายดาย)ทุกครั้งจะปล่อยให้น้องเป็นผู้ชนะ แต่เมื่อมีใครเผลอขึ้นรถก่อนน้อง น้องจะโกรธ เช่น ร้องไห้ เตะ ตี กัด บ้าง

อาการไม่ยอมรับความพ่ายแพ้- น้องอายุห้าขวบ ขณะที่เรียนเทนนิส ครูจัดให้วิ่งแข่งกับนักเรียนอีกคนหนึ่ง แต่เมื่อวิ่งแข่งแพ้เพื่อน น้องกลับวิ่งออกจากสนาม และบอกว่า เขามีเพื่อนไดโนเสาร์ชื่อซู วิ่งเร็วกว่านี้ และยอมให้เขาขี่ด้วย (เพื่อนจินตนาการ ชื่อซู เป็นไดโนเสาร์)

อาการไม่ทนต่อสถานการณ์ที่เขาไม่เก่ง- น้องอายุห้าขวบ ขณะเรียนเทนนิส น้องเขาเริ่มฝึกตีลูก แต่ตีไม่โดน ขณะที่ผู้ปกครองนั่งข้างสนาม คอยตะโกนบอกว่าให้ตีช้าๆ ตามองลูก เมื่อตีไปซักพัก เขายังทำไม่ได้ อาการหงุดหงิดจึงเริ่มขึ้นด้วยการ ล้มตระกร้าที่ใส่ลูกของคุณครู ขว้างไม้ วิ่งออกจากสนาม พร้อมตะโกนบอกว่า "ทุกคนแกล้งเขา ทำให้เขาตีลูกไม่ได้" และเมื่อน้องโกรธแล้ว จะระงับอารมณ์ยาก การตี การกัดคนรอบข้างจึงมีให้เห็น

อาการไม่ทนต่อคำวิจารณ์ หรือสอน
- น้องอายุห้าขวบ ขณะนั่งรถเที่ยว น้องยังพูดคำบางคำไม่ชัด แต่เมื่อบอกให้พูดให้ชัดหลายๆ ทีเข้า น้องใช้มือตีคนที่สอนอย่างไม่รู้ตัว และเมื่อถามถึงเหตุผล น้องบอกว่า "ไม่ชอบที่มาบอกว่าหนู" ด้วยเสียงและสีหน้าที่เห็นชัดว่าโกรธ