วันอาทิตย์ที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

อัจฉริยะแอสเพอร์เกอร์

อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์, เซอร์ไอแซค นิวตัน อาจเป็น แอสเพอร์เกอร์

เมื่อไม่นานมานี้ มีรายงานการศึกษาวิจัยของมหาวิทยาลัยแคมบริดจ์และมหาวิทยาลัยอ็อกฟอร์ด เปิดเผยว่า นักวิทยาศาสตร์ชื่อก้องโลก 2 คน ป่วยเป็น แอสเพอร์เกอร์ซินโดรม (Asperger Syndrome) โรคลึกลับที่โลกเพิ่งค้นพบ เมื่อทศวรรษที่ผ่านมานี้เอง

รายงานการวิจัยจากมหาวิทยาลัยชื่อดัง 2 แห่งเผยว่า อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ นักคณิตศาสตร์และนักฟิสิกส์ที่มีชื่อเสียงโด่งดัง เจ้าของทฤษฎีสัมพันธภาพ E = MC2 และ เซอร์ไอแซค นิวตัน ผู้ค้นพบทฤษฎีแรงดึงดูดโลก อาจป่วยเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับความผิดปกติในสมอง นั่นก็คือโรค แอสเพอร์เกอร์ ซินโดรม (Asperger syndrome) ซึ่งเป็นโรคที่มีอาการและสาเหตุใกล้เคียงกับออทิสติก (Autism) โดยในงานวิจัยชิ้นนี้อ้างถึงพฤติกรรมของนักวิทยาศาสตร์ทั้ง 2 ท่านที่สอดคล้องกับอาการของผู้ป่วยโรคแอสเพอร์เกอร์ ว่า

อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ตอนสมัยเด็กๆ เป็นเด็กที่ค่อนข้างโดดเดี่ยว และมีอาการพูดซ้ำๆ แต่ก็หายป็นปกติตอนอายุได้ 7 ขวบ และมาผูกโยงเข้ากับเรื่องการสื่อภาษาที่สับสน เข้าใจยาก โดยเฉพาะการบรรยายในห้องเรียนที่ไอน์สไตน์รับผิดชอบสอนอยู่ในมหาวิทยาลัย 3-4 แห่ง

ส่วน เซอร์ ไอแซค นิวตัน นั้น โดนข้อหาว่าป่วยเป็นแอสเพอร์เกอร์ ก็เพราะเขาหมกมุ่นกับงานมากเกินไป มีเพื่อนน้อย และไม่ค่อยพูดคุยกับใคร รวมทั้งมีอาการประสาทและหวาดระแวงคุกคามเขาในช่วงบั้นปลายชีวิต

แม้ว่ารายงานชิ้นนี้จะมาจากการศึกษาวิจัยของมหาวิทยาลัยชื่อดังอย่างอ็อกฟอร์ดและแคมบริดจ์ แต่ก็มีผู้ไม่เห็นด้วย อย่าง ดร.เกลน อีเลียต นักจิตแพทย์จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซึ่งมีความเห็นแย้งในประเด็นที่น่าสนใจโดยใช้หลักการทางจิตวิทยาประกอบกับพฤติกรรมที่คนฉลาดเลิศทั่วไปมักจะเป็นกัน มาอธิบายพฤติกรรมแปลกๆ ของอัจฉริยะทั้งสองได้น่าฟังไม่น้อย อย่างเช่น ข้อหาการบรรยายไม่รู้เรื่องของไอนสไตส์นั้น ดร.เกลน กลับมองเห็นว่า เพราะไอน์สไตน์ฉลาดออกปานนั้น สิ่งที่เขาพูด เขาสื่อสารออกมา ก็ใช่ว่าคนทั่วไปจะเข้าใจได้ง่าย (เพราะไม่เช่นนั้น คงมีคนคิดทฤษฎีสัมพันธภาพออกก่อนเขาแล้วหละ) ฉะนั้นการฟังคำบรรยายจากอัจฉริยะ แล้วสับสน ไม่เข้าใจ ไม่รู้เรื่อง ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก ก็เหมือนอย่างที่เรามักพูดกันเล่นๆ สมัยเรียนว่า "วิชาไหนดอกเตอร์สอน วิชานั้นไม่รู้เรื่อง" ก็ใช่ว่าดอกเตอร์เขาสื่อสารไม่ดี แต่เพราะคนฟังนั่นเองแหล่ะที่หูไม่ถึงต่างหาก

ส่วนประเด็นของการแยกตัวเองนั้น ดร.เกลน บอกว่ามีความเป็นไปได้ที่จะมาจากสาเหตุเดียวกัน นั่นก็คือ ความเป็นอัจฉริยะในตัวเอง เพราะอัจฉริยะย่อมที่จะต้องหมกมุ่นครุ่นคิดในงาน หัวสมองคงแล่นปรู๊ดปร๊าดตลอดเวลา เพื่อค้นหาทฤษฎีใหม่ๆ เพื่อเอาชนะตัวเอง การจะให้มาเมาท์ มาคุยกับใคร ตามงานสังคมต่างๆ คงไม่ใช่เรื่องที่อัจฉริยะเขาจะทำกันหรอก เพราะการจะทำอย่างนั้น ล้วนเป็นสิ่งเสียเลาในสายตาของคนเป็นอัจฉริยะ เวลาที่มีเขาต้องเอาไปคิดงานคิดทฤษฎี ครั้นจะเข้าวงสังคมก็คุยไม่รู้เรื่อง เพราะฉลาดมากไป พอคนอื่นพูดคุยด้วยก็ไม่รู้เรื่องอีก เพราะคนพูดด้วยฉลาดน้อยไป จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่อัจฉริยะชอบที่จะเลือกการปลีกวิเวก อยู่กับตัวเอง อยู่กับงานดี เพราะนั่นทำให้เขามีเวลาเพิ่มมากขึ้น สำหรับการได้คิดอะไรฉลาดๆ ออกมาอีก

ว่าไปแล้วก็ชวนให้นึกถึงอัจฉริยะอีกคนหนึ่ง ที่ชีวิตของเขาถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนต์ เรื่อง A Beautiful mind ภาพยนต์ยอดเยี่ยมรางวัลออสการ์ปี 2002

หนังเรื่องนี้นำเค้าโครงเรื่องมาจากชีวิตจริงของ จอห์น แนช จูเนียร์ อัจฉริยะที่ป่วยเป็นโรคจิตเภท วันทั้งวันเขาจะไม่ทำอะไรเลย นอกจากคิดทฤษฎี พิสูจน์ความเป็นไปได้ ขีดเขียน หาข้อถูกผิด จนได้ทฤษฎีใหม่ออกมา แต่แล้วอยู่มาก็พบว่าตัวเองป่วยเป็นโรคจิตเภท โลกทั้งใบพังย่อยยับลงกับตา เมื่อความจริงกับความลวงมาผสานรวมอยู่ในโลกเดียวกัน ไม่สามารถบอกได้ว่าคนไหนอยู่ในโลกของความเป็นจริง คนไหนคือภาพลวงตาที่สมองสร้างขึ้นจากความเก็บกดของตัวเอง แต่สุดท้ายก็ด้วยความเป็นอัจฉริยะ คนฉลาดเลิศย่อมคิดออกว่าจะแยกความจริงกับความจริงเสมือนออกจากกันได้อย่างไร

หลายคนตั้งคำถาม…ทำไมอัจฉริยะมักต้องป่วยเป็นโรคจิตเภทหรือโรคสมอง หรือหากคิดในทางกลับกัน… เพราะเขาป่วยทางสมองเขาจึงเป็นอัจฉริยะ !!!

การจะอธิบายเรื่องนี้ก็ต้องมาทำความเข้าใจกับเรื่องของแอสเพอร์เกอร์ ซินโดรม กันเสียก่อน…

แอสเพอร์เกอร์ ซินโดรม (Asperger Syndrome) คือ ความผิดปกติของพัฒนาการด้านสังคม และการสื่อสาร จัดอยู่ในกลุ่มโรคพัฒนาการบกพร่องอย่างรุนแรงในเด็ก หรือ Pervasive Developmental Disorders (PDDs) โดยจะแสดงอาการออกมาให้เห็นตั้งแต่เล็กๆ พ่อแม่อาจสังเกตพบว่า ลูกมีพฤติกรรมแปลกจากเด็กทั่วไป เช่น ชอบเล่นของเล่นซ้ำๆ นั่งนิ่งๆ ไม่สบตา ชอบทำกิจกรรมเดิมๆ ซ้ำๆ ไม่ค่อยแสดงอารมณ์โต้ตอบ ไม่สามารถเรียนรู้ที่จะแสดงความรักได้หรือความพึงพอใจได้ แต่เด็กแอสเพอร์เกอร์นั้นจะไม่สูญเสียความสามารถทางการพูด คือ พูดได้เหมือนคนปกติ (ในขณะที่โรคใกล้เคียง คือ ออทิสติก เด็กจะมีปัญหาเรื่องการพูดมากกว่า รวมทั้งอาการผิดปกติอย่างอื่นที่รุนแรงกว่า ในอดีตจึงเข้าใจว่าแอสเพอร์เกอร์ ก็คือออทิสติก แต่เป็นออทิสติกที่มีศักยภาพสูงกว่า) เด็กแอสเพอร์เกอร์สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ และไม่ใช่เด็กปัญญาอ่อน ตรงกันข้ามเขาจะมีพรสวรรค์พิเศษในบางด้านมาทดแทน เช่น ความสามารถในการจำ ความสามารถทางการคำนวณ ความสามารถเชิงวิทยาศาสตร์ หรือความสามารถเชิงตรรกะ ดังนั้นปัญหาสำคัญของแอสเพอร์เกอร์ก็คือ การปฏิสัมพันธ์กับสังคมและบุคคลภายนอก

เด็กแอสเพอร์เกอร์ รักษาไม่หาย แต่อาการจะค่อยๆ ดีขึ้นเรื่อยๆ หากได้รับการดูแลอย่างถูกต้อง และเอาใจใส่จากผู้ปกครองและครูด้วย เพราะเด็กจะมีโลกของเขาเอง และจะอนุญาตให้คนที่เขาไว้ใจเท่านั้น ที่ได้เข้าไปสัมผัสโลกของเขา ทำให้โลกของเขามีเพียงเขาและผู้ใกล้ชิดเท่านั้น มีเด็กออทิสติก และแอสเพอร์เกอร์จำนวนมากที่ถูกหลงลืม เพราะความไม่เข้าใจโรค และเพราะไม่รู้จักโรคนี้ พ่อแม่ที่มีลูกป่วยเป็นโรคแอสเพอร์เกอร์ ในประเทศไทยยังต้องดิ้นรนขวนขวายหาความรู้ความเข้าใจตนเอง เพราะโรคนี้ยังเป็นโรคใหม่ที่เพิ่งแยกสาขาออกมาจากออทิสติกเมื่อไม่นานมานี้เอง

เด็กแอสเพอร์เกอร์ที่ไม่ได้รับการดูแลเป็นพิเศษ จะเกิดอาการแยกตัวออกจากสังคมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นโดดเดี่ยว เพราะเขาไม่สามารถเรียนรู้ที่จะเข้าไปทักทาย วิ่งเล่น หรือพูดคุยกับเด็กอื่นๆ ได้ เด็กอื่นไม่เข้าใจเขาก็คิดว่าเขาหยิ่ง ส่วนตัวเขาเองก็คิดว่าเป็นคนไม่มีค่า ไม่มีใครสนใจ สุดท้ายก็เลือกที่จะอยู่คนเดียวลำพัง

ตัวอย่างเด็กแอสเพอร์เกอร์ จากภาพยนต์อีกเรื่อง คือ Murcury Rising เป็นภาพยนต์เมื่อหลายปีก่อน ซึ่งเป็นเรื่องราวของเด็กแอสเพอร์เกอร์ (ในหนังเรียกออทิสติก) ที่ไม่สามารถสื่อความต้องการออกมาได้ ชอบทำอะไรซ้ำๆ กิจวัตรประจำวันต้องทำเหมือนเดิมตลอด ไม่สบตา แต่มีความเป็นเลิศทางด้านการถอดรหัส จนทำให้ครอบครัวต้องถูกฆาตกรรมเพราะความสามารถในการถอดรหัสของเขา

ภาพสะท้อนจากภาพยนต์นั้นมีความเป็นไปได้จริง…เด็กแอสเพอร์เกอร์บางราย มีความเป็นอัจฉริยะติดตัวมาแต่เกิด เสมือนเป็นการชดเชยความผิดปกติตามธรรมชาติ แต่พรสวรรค์ที่เข้าขั้นอัจฉริยะเหล่านี้ ไม่ได้ฉายแสงให้ปรากฏขึ้นกับทุกคนที่เป็นแอสเพอร์เกอร์ พรสวรรค์ของหลายรายดับวูบไป เพราะไม่มีใครช่วยเขาค้นหาหรือส่งเสริมเขาไปในทางที่ ตรงกับความสามารถพิเศษที่เขามี ซึ่งก็หมายความว่า คนที่เป็นแอสเพอร์เกอร์ ซินโดรมบางรายที่ได้รับการส่งเสริมในทางที่ตรงกับพรสวรรค์ของตนเอง เขาก็จะสามารถดึงเอาพรสวรรค์หรือความสามารถพิเศษที่มีในตัวเองนั้นออกมาได้ และกลายเป็น …อัจฉริยะ…ได้เช่นกัน

และนี่อาจจะเป็นคำตอบข้อหนึ่งในหลายๆ ข้อก็ได้ว่า ทำไมอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ และเซอร์ ไอแซค นิวตัน จึงมีไอคิวที่สูงมากกว่าคนปกติทั่วๆ ไป

ผลการศึกษาวิจัยของมหาวิทยาลัยแคมบริดจ์และมหาวิทยาลัยออกฟอร์ดอาจจะเป็นจริงก็ได้ หรือข้อโต้แย้งของ ดร.เกลน อาจจะถูกต้อง แต่ไม่ว่าข้อเท็จจริงจะเป็นอย่างไร ไอน์สไตน์และนิวตันจะป่วยเป็นแอสเพอร์เกอร์ ซินโดรมหรือไม่ ไม่มีใครตอบได้ แต่ทุกอย่างก็ดูเหมือนจะเป็นเหตุเป็นผลที่สอดรับกับความเป็นอัจฉริยะของคนทั้งคู่ได้เป็นอย่างดี

ก็คงเหมือนกับที่หลายคนชอบพูดกันว่า อัจฉริยะและปัญญาอ่อนอยู่ใกล้กันแค่เส้นแบ่งอันเบาบาง


ที่มา http://www.elib-online.com/doctors46/child_asperger001.html
นิตยสารใกล้หมอ ปีที่ 27 ฉบับที่ 5 มิถุนายน 2546

ที่มาของ Blog นี้

หลานสาวของผม 5 ขวบแล้ว
ผมเริ่มสังเกตพฤติกรรมที่แตกต่างจากเด็กทั่วไป
ไม่ว่าจะกิจกรรม หรือพฤติกรรมต่างๆ

หลายปีก่อน ผมนึกว่าเป็นอาการที่ทางบ้านตามใจจนเคยตัว
จนไม่มีวินัย เนื่องจากเป็นหลานคนแรก และเป็นที่รักของทุกคน

ต่อมาเริ่มสังเกตว่า อาจเป็นโรคสมาธิสั้น
ซึ่งสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมช่วยเหลือได้

แต่เมื่อพบคุณหมอ ก็ได้รู้จักกับ Asperger's Syndrome
หนังสือที่แนะนำคือ "The Complete Guide to Asperger's Syndrome" by Tony Attwood
กลับอธิบายถึงพฤติกรรมได้ตรงกว่า

และเมื่อได้อ่าน ได้ศึกษามากขึ้น
พบว่า การอธิบายในเชิงลึก และข้อมูลเกี่ยวกับแอสเพอร์เกอร์ในประเทศไทยนั้นยังอยู่ในวงแคบ
ทั้งที่อาการแอสเพอร์เกอร์เป็นอาการที่มีมานานแล้ว
พบได้ทั้งผู้ใหญ่ และเด็ก
มีการถ่ายทอดทางพันธุกรรม

แอสเพอร์เกอร์นั้น จำเป็นต้องอาศัยความเข้าใจอย่างมาก
ทั้งต้องเข้าใจตัวเอง และคนรอบข้างที่ต้องเข้าใจผู้เป็นแอสเพอร์เกอร์
ก่อนที่ผู้เป็นแอสเพอร์เกอร์จะถูกสังคมคิดว่าเป็นปัญหาแบบไม่ตั้งใจด้วยวิธีต่างๆ
ซึ่งเป็นการเสียโอกาสของผู้เป็นแอสเพอร์เกอร์ที่มีศักยภาพทั่วๆ ไปไม่แตกต่างจากคนปกติ

แอสเพอร์เกอร์นี้ จำเป็นต้องได้รับการเผยแพร่
เพื่อให้สังคมมีความเข้าใจในคนกลุ่มนี้มากขึ้น

โดยเฉพาะเด็กแอสเพอร์เกอร์ หากได้รับการวินิจฉัยในวัยที่เร็วขึ้น
จะช่วยปรับพฤติกรรมของเขาได้อย่างมาก
และลดการเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสม จากความไม่เข้าใจอาการแอสเพอร์เกอร์ได้อย่างมาก

และสำหรับผู้ใหญ่บางคน ที่ยังไม่เข้าใจตัวเองว่ามีปัญหาอะไร
เช่น การเข้ากับเพื่อนไม่ได้ หรือมีปัญหาในที่ทำงาน
ท่านอาจเป็นแอสเพอร์เกอร์ โดยที่ไม่รู้ตัวมาตลอด

ดังนั้น เวบบล๊อกนี้ จะพยายามรวบรวมข้อมูลทั้งจากผู้เชี่ยวชาญ จากการหาข้อมูลในหนังสือ และจากประสบการณ์
เพื่อให้เป็นช่องทางหนึ่งที่จะนำความรู้ ประสบการณ์มาร่วมกัน

เพื่อผู้เป็นแอสเพอร์เกอร์ ที่เขาไม่ได้เป็นปัญหา เพียงแต่แค่เขามีความแตกต่าง

เมื่อลูกเป็นแอสเพอร์เกอร์

จะรู้ได้อย่างไรว่าลูกเราเป็นแอสเพอร์เกอร์

แอสเพอร์เกอร์เป็นปัญหาที่เด็กมีมาตั้งแต่เกิด แต่ช่วงเล็กๆ จะดูยากมาก เพราะลักษณะภายนอกเด็กจะดูเหมือนปกติ หน้าตาน่ารัก ไม่มีอะไรที่บ่งชี้เลยว่าจะมีปัญหา ข้อที่ชวนสงสัย คือ สังเกตว่าเด็กไม่ค่อยตอบสนอง เวลาอุ้มจะไม่อยากให้อุ้ม เวลาเล่นด้วยไม่ค่อยเล่นด้วย ไม่ค่อยโต้ตอบ ไม่สบตา ไม่ยิ้มตอบ หรือท่าทีดีใจเวลามีคนเล่นด้วย มีพฤติกรรมบางอย่างที่แตกต่างจากเด็กคนอื่น

สำหรับพ่อแม่สิ่งที่ยากก็คือ ถ้าพ่อแม่ที่ไม่เคยมีลูกมาก่อนจะไม่รู้ถึงความแตกต่าง แต่ถ้าพ่อแม่ที่เคยมีลูกมาแล้ว 1-2 คน อาจจะเห็นความแตกต่างบางอย่าง แต่ก็เป็นเพียงการสงสัยยังไม่ชัดเจน จะชัดเจนก็ต่อเมื่อ 1-2 ขวบขึ้นไป ถ้าไม่คุ้นเคยจะแยกความแตกต่างค่อนข้างยาก คือต้องอาศัยประสบการณ์ด้วย เพราะมันมีจุดที่เหลื่อมที่แตกต่างกัน ไม่มีเส้นแบ่งที่ชัดเจนระหว่างแอสเพอร์เกอร์กับคนปกติที่มีปัญหาเรื่องบุคลิกบางอย่างที่ไม่เหมาะสม หรือว่าในบางรายที่เป็นแอสเพอร์เกอร์กับออทิสติกที่มีความสามารถสูงๆ ก็ยังแยกกันยาก

ดังนั้นการพามาพบหมอจึงค่อนข้างช้า ซึ่งมักจะพามาพบก็ต่อเมื่อเกิดปัญหามากแล้ว เช่น เด็กเข้ากับเพื่อนไม่ได้ อยู่ในระเบียบไม่ได้ ไม่ทำตามคำสั่ง นั่งนิ่งไม่ได้ เล่นรุนแรง เป็นต้น เด็กที่มาตรวจส่วนใหญ่ก็จะเป็นช่วงวัยที่โตขึ้นมา เพราะพ่อแม่จะเริ่มเห็นความแตกต่างจากเด็กคนอื่นชัดเจนขึ้นเมื่อลูกไปโรงเรียน อยู่บ้านจะไม่มีอะไรเปรียบเทียบเลย

แค่เริ่มสงสัยก็สามารถพามาตรวจประเมินได้ เพราะรู้เร็ว แก้ไขเร็ว ย่อมได้ผลดีกว่า ในการประเมิน หมอจะพิจารณาประวัติทุกด้านตั้งแต่เล็กๆ เลย และสังเกตพฤติกรรมบางอย่างประกอบกัน ดูว่าเข้าเกณฑ์ของแอสเพอร์เกอร์หรือเปล่า ถ้าใช่ก็ต้องช่วยเหลือให้เร็วที่สุดเช่นกัน อย่ากลัวที่จะรู้ว่าลูกเป็นอะไร แต่การที่ลูกเสียโอกาสที่จะได้รับการช่วยเหลืออย่างเหมาะสมเป็นสิ่งที่น่ากลัวกว่า

โดยในเบื้องต้นจิตแพทย์เด็กจะประเมินดูก่อนว่าเด็กควรจะต้องตรวจเพิ่มเติมอะไร และไปฝึกกับใครบ้าง เช่น ไปพบนักกิจกรรมบำบัดเพื่อฝึกสมาธิ ทักษะสังคม ฝึกพัฒนาการด้านกล้ามเนื้อและการเคลื่อนไหว (เด็กบางคนเวลาเคลื่อนไหวจะดูเก้งก้าง หรือว่าการหยิบจับจะไม่ค่อยคล่อง ไม่ค่อยถนัด แต่ไม่ถึงกับว่าเดินไม่ได้ หยิบจับไม่ได้ มักเป็นเรื่องของการประสานกันของกล้ามเนื้อมากกว่า) หรือไปพบนักจิตวิทยาเพื่อปรับพฤติกรรม กระตุ้นพัฒนาการ หรือทำทั้งสองอย่าง ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับปัญหาที่เกิดขึ้นกับเด็กเป็นสำคัญ

ในการดูแลเด็กที่เป็นแอสเพอร์เกอร์นั้น เด็กแต่ละคนจะได้รับการดูแลไม่เหมือนกัน เพราะเด็กจะมีปัญหาเฉพาะที่แตกต่างกัน เพราะฉะนั้นการวางแผนการดูแลจะเริ่มต้นที่ว่าเด็กมีปัญหาอะไร ก็ต้องแก้ตรงนั้น เด็กยังขาดอะไรก็ต้องเสริมตรงนั้น

เด็กบางคนอาจจะมีปัญหาสมาธิสั้นร่วมด้วย ซึ่งสมาธิสั้นจะพบร่วมได้ในหลายๆ โรค ถ้าเป็นสมาธิสั้นอย่างเดียวไม่มีโรคอื่นเราจะเรียกว่าเป็นโรคสมาธิสั้น แต่ถ้าสมาธิสั้นร่วมกับออทิสติกหรือแอสเพอร์เกอร์ ก็จะเรียกตามโรคหลักของเด็ก เด็กที่เป็นแอสเพอร์เกอร์เกือบครึ่งจะมีปัญหาสมาธิสั้น



แล้ววิธีแก้ไขจะทำได้อย่างไร

ทุกคนในครอบครัวถือว่ามีบทบาทสำคัญที่จะต้องมาช่วยกันดูแล ต้องมานั่งคุยกันว่าใครจะช่วยเหลือเด็กเรื่องอะไรบ้าง จะต้องทำความเข้าใจกับปัญหาแล้วก็ต้องศึกษาวิธีที่จะแก้ปัญหา เรียนรู้ทักษะต่างๆ ในการแก้ปัญหาจากผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้าน ในขณะเดียวกันก็จะต้องถ่ายทอดความรู้ตรงนี้ไปสู่คนอื่นๆ ในครอบครัว

วิธีแก้ไขต้องอาศัยความช่วยเหลือจากหลายๆ ฝ่ายครับ ทั้งทางครอบครัว ทางการแพทย์ ทางการศึกษา และสังคมรอบข้าง ขั้นแรกเราจะต้องเข้าใจสภาพปัญหาของเด็กก่อน ไม่ใช่เพราะเด็กไม่สนใจ หรือนิสัยไม่ดี แต่เป็นเพราะเด็กไม่เข้าใจ

คือต้องเรียนรู้ธรรมชาติของโรคว่าคืออะไร ปัญหามีอะไรบ้าง พอเข้าใจธรรมชาติของโรคแล้ว ก็สอนให้เขาเรียนรู้ด้วยวิธีการที่เข้มข้นขึ้น และอะไรที่ขัดขวางการเรียนรู้ก็ต้องพยายามแก้ไข เช่น ในกรณีที่เด็กสนใจอะไรบางอย่างที่เรียกว่าหมกมุ่นมากเกินไปไม่สนใจอย่างอื่นเลย ก็ต้องพยายามดึงออกมา บางอย่างที่มีประโยชน์ก็ต้องเสริม ยกตัวอย่างเช่น เด็กบางคนจะชอบสะสมขวดแชมพู ขวดยา ซึ่งเป็นการสะสมที่ไม่เกิดประโยชน์ หรือชอบดูพัดลมหมุนๆ ชอบดูโลโก้สินค้า ก็ต้องดึงเด็กออกมาแล้วหากิจกรรมอย่างอื่นเสริม แต่ถ้าเป็นเรื่องที่เกิดประโยชน์ เช่น ชอบไดโนเสาร์ พ่อแม่สามารถสอนเรื่องอื่นสอดแทรกไปได้ เช่น เรื่อง ชีววิทยา ธรรมชาติ ประวัติศาสตร์ เป็นต้น กล่าวคือเน้นการใช้เรื่องที่เขาสนใจเป็นฐานแล้วก็ขยายความสนใจออกไป เพื่อให้เด็กสามารถเรียนรู้ในเรื่องอื่นๆ เพิ่มเติมได้

ทักษะสังคมเป็นเรื่องที่ต้องคอยสอนคอยชี้แนะอยู่ตลอด และต้องสอนกันเกือบทุกเรื่อง เช่น เวลาเจอเพื่อนจะทักทายอย่างไร อยากเข้าไปเล่นกับเพื่อนต้องทำอย่างไร อย่าไปคาดหวังว่าเดี๋ยวก็รู้เอง แต่ถ้าสอนแล้วเด็กจะทำได้ในที่สุด



รู้แล้วต้องตั้งรับอย่างไร

คงต้องทำความเข้าใจกับปัญหาก่อน คือทำความเข้าใจว่าปัญหาเกิดจากอะไร แล้วก็ยอมรับว่ามันเป็นปัญหาที่แก้ไขได้ ให้เชื่อว่าสิ่งที่ลูกเป็นสามารถแก้ไขให้ดีขึ้นได้ มีงานวิจัยหลายชิ้นที่ยืนยันชัดเจนว่า เด็กที่เข้ากระบวนการดูแลช่วยเหลืออย่างเหมาะสม กับเด็กที่ไม่ได้เข้าสู่กระบวนการ มีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน ทั้งแง่ของการพัฒนาทางด้านสังคม หรือการเรียนรู้ เพราะเด็กที่ได้รับการช่วยเหลือเขาสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเอง เรียนถึงระดับมหาวิทยาลัยหรือสูงกว่า ดังนั้นต้องเชื่อมั่นด้วยว่าเป็นปัญหาที่จัดการได้ และถ้าพ่อแม่ไม่ทำอะไรปล่อยทิ้งไว้เฉยๆ ก็ยิ่งสะสมปัญหา

ในการสอนบางอย่างต้องใช้เทคนิคเข้าช่วย ซึ่งจะมีเทคนิคเฉพาะในการสอน พ่อแม่ก็ต้องเรียนรู้เทคนิคนั้น ส่วนจะเป็นเทคนิคอะไรก็ต้องดูเด็กเป็นหลัก ดูว่าในสถานการณ์แต่ละแบบจะต้องใช้เทคนิคไหน ซึ่งพ่อแม่ต้องมีเทคนิคหลากหลายเหมือนกัน การบอกการสอนแบบทั่วไปอาจไม่ได้ผล เพราะเด็กเขาไม่สามารถเรียนรู้โดยวิธีนั้นๆ ได้ คือวีธีการก็ต้องเข้มข้นมากกว่าปกติ



เมื่อเด็กต้องไปโรงเรียน ควรจะมีหลักในการดูแลอย่างไร

เด็กที่เป็นแอสเพอร์เกอร์ส่วนใหญ่จะสมองดี ถ้าเขาไม่มีปัญหาอะไรที่ขัดขวางการเรียนรู้ตั้งแต่แรก เช่น ไม่มีปัญหาเรื่องสมาธิสั้น หรือไม่มีเรื่องของพฤติกรรมรุนแรง หลายคนเรียนหนังสือได้ครับ และเรียนได้ดีอีกด้วย เด็กที่หมอดูแลอยู่สอบได้ที่ 1 ทุกปีก็ยังมี

ถึงการเรียนจะไม่มีปัญหาแต่ก็มักจะมีปัญหาเรื่องการเข้ากับเพื่อน จะเล่นกับเพื่อนไม่เป็น เล่นแรงบ้าง เล่นไม่เหมาะสมบ้าง ไม่เล่นตามกติกา จึงมักจะถูกปฏิเสธจากเพื่อน ปัญหาที่ตามมาคือ พอจะเล่นกับเพื่อนแล้วถูกปฏิเสธเขาก็ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร เขาก็จะหาวิธีการเล่นที่แหวกแนวยิ่งขึ้น ถ้าเป็นการเล่นที่ไม่รบกวนคนอื่นก็ไม่ค่อยมีปัญหา แต่ถ้ารบกวนคนอื่นหรือทำให้คนอื่นเดือดร้อนก็อาจจะกลายเป็นปัญหารุนแรงได้



โรคนี้หายขาดไหม

สามารถพัฒนาให้ดีขึ้นได้มากครับถึงแม้ว่าจะไม่หายขาด ถ้าเด็กได้รับการดูแลช่วยเหลืออย่างเต็มที่ โดยเฉพาะในเรื่องทักษะการดูแลตัวเองในชีวิตประจำวัน และฝึกฝนในทักษะทางสังคมอย่างต่อเนื่องก็จะพัฒนาไปได้ดี ปัญหาที่ยังคงเหลืออยู่จะถูกมองเป็นเรื่องของบุคลิกภาพมากกว่า แต่ถ้าได้รับคำแนะนำและช่วยเหลือเขาจะดีขึ้นตามความสามารถที่ควรจะเป็น

ปัญหาบางอย่างที่ยังคงหลงเหลืออยู่ เช่น เรื่องของทักษะสังคม การพูดจาไม่เหมาะสม การเข้ากับเพื่อน ขึ้นอยู่กับสถานที่ที่เขาอยู่มากกว่า คือเมื่อเขาโตขึ้นแล้วได้ทำงานที่เหมาะสมกับตัวเขา หรือในบางที่ที่ยอมรับ ก็จะไม่มีปัญหา ก็คือเขาสามารถใช้ความสามารถของเขาได้เต็มที่ ซึ่งเด็กที่เป็นแอสเพอร์เกอร์ส่วนใหญ่จะมีความสามารถสูง โดยเฉพาะในเรื่องที่เขาสนใจ เขาจะรู้จริง และรู้ลึกมากกว่าคนอื่นครับ


อยากฝากคุณพ่อคุณแม่ในเรื่องของการค้นคว้าหาข้อมูลเกี่ยวกับโรคว่า สิ่งที่สำคัญคือจะกรองข้อมูลอย่างไร และนำมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมได้อย่างไร เพราะขณะนี้มีข้อมูลที่สามารถค้นได้ง่ายจากอินเทอร์เน็ตและสื่อต่างๆ ข้อมูลที่เราได้รับอาจจะเหมาะสมกับเด็กคนหนึ่ง แต่ไม่เหมาะสมกับเด็กอีกคน หรือข้อมูลบางอย่างที่เคยเชื่อว่าเป็นแบบนี้ แต่ปัจจุบันเปลี่ยนไปแล้ว เพราะมีงานวิจัยที่ยืนยันชัดเจนแล้วว่าไม่ใช่ และวิธีการรักษาที่เคยเชื่อว่าได้ผลดี อาจจะไม่ใช้แล้วในปัจจุบัน วิธีการที่ดีที่สุดคือต้องศึกษาข้อมูลจากหลายๆ แหล่ง พูดคุยแลกเปลี่ยนกับกลุ่มพ่อแม่ด้วยกัน หรือปรึกษากับแพทย์ที่ดูแลอยู่ เพื่อจะได้แลกเปลี่ยนความรู้และสามารถนำไปใช้ได้อย่างถูกวิธีครับ

นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา
จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น

จากบทความ เมื่อลูกเป็นแอสเพอร์เกอร์ ซินโดรม

พฤติกรรมแอสเพอร์เกอร์

พฤติกรรมแอสเพอร์เกอร์ ที่สามารถสังเกตได้คืออะไร?

เด็กที่เป็นแอสเพอร์เกอร์ จะมีความบกพร่องของพัฒนาการด้านสังคมครับ เวลาพูดคุยจะไม่ค่อยมองหน้าสบตา ไม่ค่อยสนใจใคร เรียกก็ไม่หัน เล่นกับเด็กคนอื่นไม่ค่อยเป็น และไม่ค่อยรู้กาลเทศะ แสดงออกไม่เหมาะสมบ่อยๆ

ร่วมกับมีพฤติกรรมความสนใจซ้ำๆ จำกัดเฉพาะเรื่อง เช่น ถ้าเขามีความสนใจอะไรก็จะสนใจมากๆ ถึงขั้นที่เรียกว่าหมกมุ่นก็ว่าได้ และเรื่องที่เขาสนใจก็อาจจะเป็นเรื่องที่คนอื่นไม่สนใจ เช่น เด็กบางคนจะชอบดูโลโก้สินค้า เห็นที่ไหนก็จะดู จะถาม และจำได้แม่นยำ บางคนชอบดูยี่ห้อของพัดลมว่ายี่ห้ออะไร เวลาไปเห็นพัดลมที่ไหนก็จะมุ่งตรงไปดูยี่ห้อก่อน เป็นต้น

ปกติเวลาที่พบเจอกันก็จะมีการทักทายกัน มีการพูดคุยเล็กๆ น้อยๆ ก่อนจะเข้าเรื่อง แต่สำหรับคนที่เป็นแอสเพอร์เกอร์พอเจอปุ๊บอยากถามอะไร อยากรู้อะไร ก็จะพูดโพล่งออกมา ไม่มีการทักทาย ไม่มีการเกริ่นนำ จะถามเรื่องที่สนใจโดยไม่เสียเวลา

การพูดจาหรือการทำอะไรบางอย่างที่ไม่เหมาะสม เช่น เวลาเขาเห็นอะไรหรือรู้สึกอะไร อยากได้อะไร เขาก็จะบอกตรงๆ ซึ่งบางสถานการณ์อาจจะไม่เหมาะสม อาจจะทำให้คนอื่นเกิดความไม่พอใจ เช่น มีเด็กคนหนึ่งอยู่โรงเรียน เขาเห็นแม่คนหนึ่งกำลังดุลูก เขาก็จะเข้าไปบอกทันทีว่า “ไม่ควรดุลูกนะครับ คุณแม่ควรพูดจาเพราะๆ กับลูก” ก็อาจจะทำให้คนอื่นรู้สึกไม่พอใจได้ หรือกินข้าวร้านนี้แล้วมันไม่อร่อย เวลาเดินผ่านทีไรก็จะพูดดังๆ ขึ้นมาตรงนั้นเลยว่า “ข้าวร้านนี้ไม่อร่อย” ซึ่งถามว่าสิ่งที่เขาทำถูกต้องหรือเปล่า ก็ถูกในแง่มุมของความรู้สึกของเขา แต่ไม่เหมาะสมในแง่มุมความรู้สึกของคนอื่น สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่ทำให้เกิดปัญหาตามมา

ปัญหาที่เกิดขึ้นกับเด็กที่เป็นแอสเพอร์เกอร์ คือคนรอบข้างไม่เข้าใจ ตรงนี้ถือว่าเป็นปัญหาใหญ่ของคุณพ่อคุณแม่ด้วย เพราะมักจะถูกตำหนิ คนอื่นจะมองว่าพ่อแม่ไม่สั่งสอน ไม่บอก ทำให้เด็กไม่รู้กาลเทศะ ทั้งที่พ่อแม่ส่วนใหญ่ก็พยายามสอนเต็มที่แล้ว แต่ปัญหาอยู่ที่ตัวเด็กด้วยว่าเขาไม่เข้าใจ

นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา
จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น

วันเสาร์ที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

รู้จักแอสเพอร์เกอร์

แอสเพอร์เกอร์ซินโดรม คืออะไร?

แอสเพอร์เกอร์ ซินโดรม (Asperger's Syndrome)
เป็นความบกพร่องของพัฒนาการที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวรูปแบบหนึ่ง โดยบกพร่องในทักษะทางสังคม ร่วมกับมีพฤติกรรมหมกมุ่น ทำซ้ำๆ ไม่ค่อยยืดหยุ่น จนเกิดผลเสียต่อการดำรงชีวิต การเรียน การทำงาน และการเข้าสังคม ส่วนด้านการใช้ภาษา สามารถพูดคุยสื่อสารปกติ แต่ไม่เข้าใจลูกเล่น สำนวน มุกตลกต่างๆ มีระดับสติปัญญาปกติ ความจำดีแต่มีปัญหาในการประยุกต์ใช้

เป็นกลุ่มอาการที่คล้ายๆ ออทิสติก (อยู่ในกลุ่มการวินิจฉัยโรคที่เรียกว่า PDDs เหมือนกัน) แต่ไม่เหมือนกันเสียทีเดียว คือพัฒนาการด้านภาษาจะดีกว่าออทิสติก และมีระดับสติปัญญาที่ปกติ หรือสูงกว่าปกติ ซึ่งปัจจุบันเปอร์เซ็นต์ของคนทั่วโลกที่เป็นแอสเพอร์เกอร์ ออทิสติก และพีดีดีอื่นๆ รวมกันจะอยู่ที่ประมาณ 1:1,000 และพบว่ามีแนวโน้มสูงขึ้น พบว่ามีการทำงานของสมองบางตำแหน่งผิดปกติ แต่ยังบอกไม่ได้ว่าอะไรคือสาเหตุที่ทำให้เกิด แม้ว่าจะมีงานวิจัยหลายชิ้นแต่ก็ยังไม่มีหลักฐานยืนยันชัดเจนเสียทีเดียว แนวโน้มปัจจุบันเชื่อว่ามีความบกพร่องของสารพันธุกรรม ซึ่งความผิดปกติทางพันธุกรรมก็ยังบอกไม่ได้อีกเหมือนกันว่าเกิดจากการถ่ายทอดจากรุ่นต่อรุ่นค่อยๆ สะสมความผิดปกติมาจนแสดงออกในรุ่นหนึ่ง หรือว่าเป็นการกลายพันธุ์ของยีน ซึ่งยังต้องศึกษาวิจัยอีกระยะหนึ่งครับ


นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา
จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น