วันพุธที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2556

คุณ "สิทธัตถะ เอมเมอรัล" TGT3

ใครอยู่ WORKPOINT หรือ ใครสามารถส่งข้อความให้คนใน WORKPOINT ได้
ช่วยอ่านนี่นิดนะครับ 
(ผมส่งให้คุณประภาสทาง FB ไปแล้ว ซึ่งอาจจะไม่ถึง)
-----------------------
เรียน พี่ประภาสครับ

ผมเป็นรุ่นน้องห่างๆ ของพี่ที่ สถาปัตย์ จุฬา
ผมขออนุญาตให้ข้อมูลเรื่อง คุณ "สิทธัตถะ เอมเมอรัล" 
ที่อาจต่างจากกระแสวิจารณ์สักนิดนะครับ

ผมดูครั้งแรกจากคลิปวิดิโอบนเฟสบุ๊ค
ก็รู้สึกว่า คนนี้จะมีอาการเหมือนผู้เป็น "แอสเพอร์เกอร์" ครับ

คนไทยอาจจะยังไม่ค่อยรู้จักอาการนี้เท่าไหร่ครับ

อาการแอสเพอร์เกอร์นี้เป็นรุ่นพี่ของ ออทิสซึม 
ทางอเมริกาบางทีเรียกว่า High Function Autism 
คือเป็น ออทิสซึมแบบยังใช้ชีวิตปกติได้
อาการนี้มีประมาณนี้
- ไม่ค่อยสบตา
- แพ้ไม่เป็น (เช่น เขาจะอ้างว่า เสียงไม่ดี เพราะไม่ได้กินน้ำอุ่น)
- คุมเสียงไม่ค่อยได้ แม้จะพูดได้ใกล้เคียงคนปกติ
- ก้าวร้าว
- อ่านภาษากายไม่ออก (เช่น การที่กรรมการเดินออก เขาจะไม่รู้ว่าทำไม จนต้องบอกเขา ว่าไม่เขาร้องไม่เพราะ ถึงจะเข้าใจ)
- กล้ามเนื้อมัดใหญ่ ทำงานไม่สัมพันธ์กับมัดเล็ก (ท่าเดินจะแปลกๆ และถ้าดูลายมือได้ ตัวหนังสือก็จะไม่ค่อยสวย)
- การเรียนไม่ค่อยมีปัญหา เพราะเขาสามารถโฟกัสความสนใจได้มากๆ (ผมอ่านตามที่แชร์กัน เขาว่าเคยเรียนอยู่ รร.วัดสุทธิฯ เพื่อนๆ เรียกว่า ไอ้ใบ้)

คนที่มีอาการนี้ จะเข้าสังคมปกติยาก เพราะทักษะด้านสังคมน้อย
ถ้าคิดย้อนไปสมัยเราเด็กๆ ดีๆ ในห้องเรา หรือโรงเรียนเรา 
จะมีเพื่อนแบบนี้มาตลอด
เขาเป็นตัวประหลาดของโรงเรียน
โดนเพื่อนแกล้งบ้าง เป็นตัวตลกของเพื่อนๆ บ้าง

แต่เพราะสังคมเรายังไม่รู้จักอาการนี้
เลยจับเขามาเล่น เพราะไม่รู้ว่าเขาป่วย
เอามาเป็นเรื่องสนุกสนาน

การที่รายการ TGT3 
ไม่ใส่ใจในรายละเอียดน้อยๆ พวกนี้
และยังนำความป่วย และความต่าง มาทำเป็นการค้า การตลาดไป
แม้จะรู้เท่าไม่ถึงการณ์
แต่อาจทำให้สังคมเราแย่ลงได้ครับ

ส่วนที่ผมรู้จักอาการนี้ ก็เพราะคนใกล้ตัวผม สงสัยว่าอาจจะเป็นอาการนี้
จนผมต้องซื้อหนังสือฝรั่งมาอ่านเป็นจริงเป็นจัง
แปลแล้วโพสตามเวบไซด้ เพื่อให้คนไทย เริ่มสนใจความต่างพวกนี้บ้าง

หลังจากผมโพสแล้ว 
ผมพบว่า มีพ่อแม่ หรือ ผู้ที่มีอาการนี้ ติดต่อเข้ามาพูดคุยมากมาย
ทำเหมือนกับผมเป็นผู้เชี่ยวชาญ 
ซึ่งผมต้องปฏิเสธตลอดว่าไม่ใช่

เพียงแต่การแก้ปัญหาคือ 
ต้องให้สังคมรู้จักอาการแอสเพอร์เกอร์ให้มากขึ้น
และทุกคนที่มีคนรอบข้างเป็นแอสเพอร์เกอร์ 
ต้องร่วมกันเรียนรู้ และพัฒนาแนวทางแก้ปัญหาความไม่รู้ ความไม่เข้าใจนี้กันต่อๆ ไป

กรณีของ คุณ"สิทธัตถะ เอมเมอรัล"
นี่อาจเป็นโอกาสที่ดี ที่คนไทยเรา 
จะใส่ใจคนที่มีอาการแอสเพอร์เกอร์นี้บ้างนะครับ

อย่าปล่อยให้ความต่าง ความไม่เหมือนเรา
พลักเขาไปอยู่ที่มุมมืดๆ ของสังคม 
เพราะแค่ "พวกเขา" ไม่เหมือน "พวกเรา"

วันจันทร์ที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2551

การกลายพันธุ์แห่งอนาคตของมนุษยชาติ

ใครเคยดูภาพยนต์เรื่อง ดิ เอ็กซ์ เมน หรือ ซีรี่ยส์ เดอะฮีโร่ส์ คงจะเห็นภาพเหล่ามนุษย์กลายพันธุ์ หรือ Mutant
บางคนมีความสามารถในการอ่านใจคนอื่น ความสามารถในการเรียกลม ความสามารถในการรักษาตัวเอง ฯลฯ

ผมมีความรู้สึกส่วนตัวว่า ผู้เป็น แอสเพอเกอร์ เป็นมนุษย์กลายพันธุ์แห่งโลกอนาคต (อันใกล้)
ตั้งแต่มนุษย์ใช้คอมพิวเตอร์ และมีการเชื่อมต่ออินเตอร์เนท มนุษย์เรามีความเป็นปัจเจกมากขึ้นเรื่อยๆ
ช่องทางการปฏิสัมพันธ์ กลับเป็นช่องแคบๆ ผ่านคีย์บอร์ด และหน้าจอมอนิเตอร์
เราสื่อสารผ่านอีเมล ระบบ MSN สามารถพูดคุย(พิมพ์และอ่าน) กันข้ามโลกได้ในเวลาแบบ Real Time พร้อมกับเวบไซต์ที่แสดงความเป็นปัจเจกต่อคนทั้งโลกได้อย่างไม่จำกัด เช่น Hi5 Facebook ฯลฯ
และแน่นอนว่า การปฏิสัมพันธ์กันระหว่างบุคคลต่อบุคคล ลดน้อยลงกว่าแต่ก่อน
สรุปคือ ทักษะด้านสังคม มีความจำเป็นน้อยลง!!!

ปัจจุบัน หากเทียบกับอดีตไม่นานมานี้ คนเริ่มใช้ความจำน้อยลง
(ใครเถียง ลองถามตัวเองว่า เราจำเบอร์โทรศัพท์ได้น้อยลงหลังจากโทรศัพท์มือถือจดจำเบอร์ได้หรือไม่?)
ความสามารถในการจำ เริ่มมีความสำคัญน้อยลงกว่า ความสามารถในการคิดวิเคราะห์
สรุปคือ ความจดจำ มีความจำเป็นน้อยลง!!!

ความโดดเด่น และการยอมรับของคนในสังคม มีแนวโน้มในการยอมรับผู้รู้จริง ผู้รู้ลึกในแต่ละเรื่อง หรือเรียกกันสมัยนี้ว่า “แฟนพันธุ์แท้” มากขึ้นกว่าแต่ก่อน
คนเหล่านี้ จะเป็นผู้เขียนเรื่องราวใน Wikipedia ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสปีชี่ส์ ต้นไม้บางชนิด สัตว์เลี้อยคลานที่เฉพาะเจาะจงบางพันธุ์ ฯลฯ
สรุปคือ การจดจ่อ หมกมุ่นกับอะไรสักเรื่อง กลับจะเป็นที่ยอมรับมากขึ้น!!!

ความอดทน อาจไม่จำเป็นสำหรับมนุษย์ชาติอีกต่อไป
การเฝ้ารอเวลาดูหนัง อาจหมดไปหากมีการดาวน์โหลดหนังโปรดผ่านทางหน้าจอโทรศัพท์มือถือ
การนัดหมาย การรอคอย แทบไม่มีอีกต่อไป เมื่อเราใช้โทรศัพท์มือถือนัดหมาย และเปลี่ยนที่นัดหมายกันอย่างฟุ่มเฟือย และเราสามารถไปทำสิ่งที่เราชอบได้ เมื่อเรารู้ว่าเพื่อนที่เรานัดยังไม่มา และเราสามารถเดินไปพบมันได้ในระหว่างทาง
สรุปคือ มนุษย์ ไม่จำเป็นต้องรอคอย การหงุดหงิดกับการรอคอยอะไรเล็กๆ น้อยๆ จึงอาจเป็นเรื่องธรรมดา!!!

เมื่อโลกเรามีความเสมือนจริงมากขึ้น เช่น โลกของเกมส์ออนไลน์ต่างๆ
เพิ่มนิสัยความไม่ยอมแพ้ หรือ แพ้แล้วเริ่มใหม่ได้ตลอด
สรุปคือ มนุษย์จะไม่ยอมรับความผิดพลาด พ่ายแพ้อีกต่อไป!!!

หากสรุปอีกครั้งให้เห็นภาพของแนวโน้มมนุษย์แห่งอนาคตคือ
- ทักษะด้านสังคม มีความจำเป็นน้อยลง!!!
- ความจดจำ มีความจำเป็นน้อยลง!!!
- การจดจ่อ หมกมุ่นกับอะไรสักเรื่อง กลับจะเป็นที่ยอมรับมากขึ้น!!!
- จากการที่ไม่จำเป็นต้องรอคอย การหงุดหงิดกับการรอคอยอะไรเล็กๆ น้อยๆ จึงอาจเป็นเรื่องธรรมดา!!!
- มนุษย์จะไม่ยอมรับความผิดพลาด พ่ายแพ้อีกต่อไป!!!
ทั้งหมดนี้ กลับสอดคล้องกับคุณสมบัติของผู้เป็นแอสเพอเกอร์ได้อย่างลงตั

หากเรามองในมุมมองแง่นี้แล้ว เราจะรู้สึกว่า “พวกเขา” คือมนุษย์แห่งอนาคต
แต่หากเราเอามาตรฐานความสุขแบบมนุษย์ปัจจุบัน ไปจับ หรือไปแวดล้อมผู้เป็นแอสเพอเกอร์
เช่น เขาต้องมีเพื่อนมากๆ เขาต้องเป็นที่ยอมรับของเพื่อน เขาต้องอดทน เขาต้องยอมรับความพ่ายแพ้ ฯลฯ
แน่นอนว่า มันอาจทำให้เขาเกิดความไม่เป็นสุขได้

เด็กแอสเพอเกอร์ในวันนี้ แน่นอนว่า เขาแตกต่าง หลายคนอาจคิดว่าเป็นปัญหา
แต่หารู้ไม่ว่า
เขาเพียงแต่ “เกิดเร็วไป” เท่านั้นเอง

วันพุธที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2551

ความโกรธ ในผู้เป็นแอสเพอร์เกอร์

ผู้เป็นแอสเพอร์เกอร์ มักมีส่วนของสมอง อมิกดาลา (Amygdala) ทำงานแตกต่างจากคนปกติ ส่งผลเรื่องความสามารถในการควบคุมความโกรธ ทำให้เวลาโกรธสามารถโกรธได้อย่างรุนแรง ไร้สติ และหยุดยาก

นำรูปมาจาก http://thesituationist.files.wordpress.com/2007/06/amygdala.jpg

หากแบ่งความโกรธของคนทั่วไปเป็นระดับสิบระดับ คือ 1-10 (1 หมายถึงโกรธน้อย, 10 หมายถึงโกรธมาก) แต่ในผู้เป็นแอสเพอร์เกอร์จะมีเพียง 1-2 และข้ามไป 9-10 เลย

Graphic by lekparinya

เหมือนกับคนทั่วไป เมื่อความโกรธมาถึงระดับ 9 หรือ 10 แล้ว จะหยุดยาก แม้ว่าทุกสิ่งรอบข้างจะบอกให้หยุดอย่างไรก็ตาม

ความโกรธของผู้เป็นแอสเพอร์เกอร์ อาจแปลเปลี่ยนมาจากความเศร้าได้ โดยในคนปกติเมื่อเศร้า จะระบายออกด้วยการร้องไห้ แต่ผู้เป็นแอสเพอร์เกอร์อาจเปลี่ยนเป็นความโกรธ อาจการขว้างข้าวของเพื่อเป็นการระบาย แม้ว่าจะมีใครมาปลอบใจผู้เป็นแอสเพอร์เกอร์ที่กำลังเศร้าอยู่ แต่เขาจะคิดว่า คำพูดเหล่านั้นช่วยอะไรเขาไม่ได้

เด็กแอสเพอร์เกอร์ (ในวัยอนุบาล) อาจใช้ความโกรธ และความขี้โมโห เพื่อเป็นการบอกให้เพื่อนๆ ห่างจากเขาไป เมื่อต้องการความสงบในบางเวลา เช่น เวลาที่อยากเล่นคนเดียว หรือไม่อยากถูกขัดจังหวะในสิ่งที่เขาสนใจอยู่

เมื่อเด็กแอสเพอร์เกอร์ถูกเพื่อนล้อเลียน เขาจะบอกให้เพื่อนหยุด แต่หากไม่หยุด เขาอาจจะใช้วิธีที่รุนแรงเนื่องจากเขาไม่รู้วิธีประณีประนอมที่เหมาะสมกว่านั้น

เมื่อผู้เป็นแอสเพอร์เกอร์โกรธถึงระดับ 9-10 แล้ว ทำอย่างไรดี?
·ไม่ควรจับ หรือยึดตัว เพราะทำให้โกรธมากขึ้น
·ไม่ควรดุ ไม่ควรขู่ ไม่ควรทำเสียงสูง ไม่ควรลงโทษ เพราะทำให้โกรธมากขึ้นได้
·เลี่ยงการเผชิญหน้า ไม่คาดคั้นว่าเกิดอะไรขึ้น เพราะทำให้โกรธมากขึ้น
·ไม่ถามว่าทำไมโกรธ เพราะผู้เป็นแอสเพอร์เกอร์มีความยากลำบากในการอธิบายความรู้สึก
·ผู้อยู่รอบข้าง ควรจะเงียบ ไม่พูดต่อความในสิ่งเดิม ดึงเขาออกมาให้อยู่ในที่สงบๆ และให้เบี่ยงเบนความสนใจไปในสิ่งที่เขาสนใจ

เมื่อความโกรธถูกเบี่ยงเบนความสนใจ ความโกรธสามารถลดลงจากระดับ 9-10 มาเป็น 1-2 ได้ทันที
จนดูเหมือนว่าเขาไม่เคยโกรธมาก่อน

ธรรมชาติแอสเพอร์เกอร์

ธรรมชาติของเด็กแอสเพอร์เกอร์ (ที่แตกต่างจากเด็กทั่วไป)

เด็กแอสเพอร์เกอร์มีธรรมชาติที่แตกต่างจากเด็กทั่วไป โดยอาจมีอาการต่างๆ กันหลายแบบ หรือรวมกันได้ (ไม่จำเป็นต้องมีครบทุกอาการ) ดังนี้

Hyperactive (ไฮเปอร์แอคทีฟ - อาการซุกซน ไม่อยู่นิ่ง พลังมากกว่าเด็กปกติ)
มักเกิดขึ้นเมื่อเด็กแอสเพอร์เกอร์เข้าสังคม หรือเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมใหม่ โดยเด็กแอสเพอร์เกอร์มักจะมีอาการไม่สามารถอยู่นิ่งได้ เนื่องจากมีความตื่นเต้น กังวล ทำให้หลายครั้งอาจถูกวินิจฉัยว่าเป็น “สมาธิสั้น”
แนวทางช่วยเหลือ
การแนะนำสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่คน สถานที่ ฯลฯ (Orientation) ในสิ่งแวดล้อมใหม่ทุกครั้งมีความจำเป็นกับเด็กแอสเพอร์เกอร์ และจำเป็นต้องให้โอกาสในช่วงแรกเพื่อการปรับตัว

Language Disorder (อาการบกพร่องในทักษะที่ซับซ้อนทางภาษา)
เด็กแอสเพอร์เกอร์
มีความสามารถในการเรียนรู้ และใช้คำศัพท์ การออกเสียง และหลักไวยาการณ์ได้ตามปกติ แต่มีปัญหาในเรื่องการเลือกใช้บทสนทนา อาจมีการใช้ภาษาที่สูงเกินกว่าระดับปกติ เช่น ใช้ภาษาของผู้ใหญ่ในการพูดกับเพื่อน หลายครั้งพบว่า เด็กแอสเพอร์เกอร์ชอบพูดเสียงที่มีโทน และจังหวะการพูดที่แปลกกว่าเด็กทั่วไป
เด็กแอสเพอร์เกอร์ มีความบกพร่องในการแปลความหมายของบทคู่สนทนา การแปลความหมายคำพูดแบบตรงไปตรงมา เช่น การไม่เข้าใจความหมายของประโยคการประชดประชัน คำเสียดสี ฯลฯ
แนวทางช่วยเหลือ
ฝึกฝนการใช้ภาษาที่ถูกต้อง อาจจำเป็นต้องให้พูดตาม หรือพูดซ้ำเพื่อฝึกการใช้ภาษาถูกต้องมากขึ้น โดยผู้สอน ไม่ว่าครู หรือผู้ปกครองจำเป็นต้องมีความอดทนสูง

Movement Disorder (อาการบกพร่องในการเคลื่อนไหว)
เด็กแอสเพอร์เกอร์ มีพัฒนาการในเรื่องการประสานการทำงานของอวัยวะ หรือความคล่องแคล่วในการใช้มือช้ากว่าปกติเล็กน้อย เช่น ผูกเชือกรองเท้าไม่ได้ ขี่จักรยานไม่ได้ จับลูกบอลไม่แม่น ลายมือไม่สวย มีการเดิน-วิ่งที่ไม่สมบูรณ์
เด็กแอสเพอร์เกอร์บางคนพบว่ามีปัญหาเชื่อมกับการเคลื่อนไหว (Motor tics) เช่น การขยิบตา-กระพริบตาบ่อย ฯลฯ และบางคนพบในการพูด (Vocal tics) อาจมีกการพูดบางอย่างออกไปโดยไม่ได้ตั้งใจ
แนวทางช่วยเหลือ
ฝึกฝนการทำกิจกรรมต่างๆ ที่ส่งเสริมการใช้กล้ามเนื้อที่ประสานกัน เช่น การโยน-รับลูกบอลหรือการช่วยงานบ้านเล็กๆ น้อยๆ

Mood Disorder (ความวุ่นวายทางอารมณ์)
เมื่อเกิดสถานการณ์ไม่ปกติ ทำให้เด็กแอสเพอร์เกอร์มีความเครียด ความกังวล เด็กแอสเพอร์เกอร์จะมีการแสดงออกแบ่งเป็นสองลักษณะ คือ
1. อาการตื่นตัวตลอด วิตกกังวล ทำให้เด็กแอสเพอร์เกอร์อาจจะเหนื่อยเกินไป
2. หรือกังวลมากไปจนไม่ยอมไปโรงเรียน อาการเงียบ ไม่พูดที่โรงเรียน
ซึ่งในความคิด อาจมีแนวคิดเป็นสองแบบคือ
1. Internalized (I’m stupid) อาการซึมเศร้า ตำหนิตัวเองถึงความแตกต่าง
2. Externalized (It’s your fault) บางคนตำหนิคนอื่น แสดงออกมาเป็นการโกรธคนรอบข้าง เมื่อตัวเองไม่สามารถเข้าใจในสถานการณ์นั้น
แนวทางช่วยเหลือ
การจำลองสถานการณ์ไม่พึงประสงค์ให้ฝึก ก่อนเจอเหตุการณ์จริง อาจลดความกังวลได้

Eating Disorder (การควบคุมการรับประทานไม่ได้)
เด็กอาจมีการปฏิเสธอาหารบางอย่าง เนื่องจากมีรส กลิ่น รูปร่างพิเศษ เนื่องจากเด็กมีความไวต่อประสาทสัมผัสบางอย่างมากกว่าปกติ หรือในทางกลับกัน เด็กอาจชอบทานอาหารบางอย่างมากเป็นพิเศษ บางรายมาด้วยอาการซูบผอม เนื่องจากเลือกกินมากเกินไป
แนวทางช่วยเหลือ
สังเกตพฤติกรรมการรับประทานอาหารว่ามีความผิดปกติ เช่นการเลี่ยง หรือการรับประทานอย่างใดอย่างหนึ่งเกินปกติหรือไม่

Non-Verbal Learning Disability (เด็กมีความไม่เข้าใจในภาษาท่าทาง)
เด็กแอสเพอร์เกอร์มีความเข้าใจในภาษาพูดได้ตามปกติ แต่มักไม่เข้าใจภาษาท่าทาง เช่น ถ้าคนทำหน้าบึ้งใส่ เด็กจะไม่เข้าใจ แต่ถ้าพูดว่าโกรธจึงจะเข้าใจ การกวักมือเรียกอย่างเดียวเด็กอาจไม่เข้าใจจำเป็นต้องเรียก และบอกให้มาหา
แนวทางช่วยเหลือ
จำเป็นต้องสอนให้เด็กเข้าใจถึงภาษาท่าทาง และการอ่านสีหน้าของคน เช่นการให้วาดรูปสีหน้าคนทำอารมณ์ต่างๆ การให้ทายลักษณะท่าทางกับความหมาย

เด็กแอสเพอร์เกอร์จะสบตาคนไม่เป็น โดยเฉพาะในการพูดคุย เด็กแอสเพอร์เกอร์จะไม่สบตาคนที่คุยด้วย อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่า เด็กไม่สนใจ ไม่เชื่อฟังคำสั่ง ดื้อ และพูดไม่รู้เรื่อง
แนวทางช่วยเหลือ
จำเป็นต้องใช้เสียงเรียกให้สบตาขณะพูดคุยด้วย และเรียกให้สนใจฟังถึงสิ่งที่พูดหรือออกคำสั่ง อาจต้องเน้นย้ำว่าเข้าใจหรือไม่ และเข้าใจว่าอย่างไรและตรงกับสิ่งที่ผู้ที่สั่ง หรือสื่อสารต้องการหรือไม่

Conduct or Personality Disorder (ความประพฤติ หรือ บุคลิกที่ผิดปกติ)
เด็กแอสเพอร์เกอร์ ชอบทำตัวเป็นผู้ใหญ่เมื่ออยู่กับเพื่อนวัยเดียวกัน (จะชัดเจนมากขึ้นในกรณีเด็กแอสเพอร์เกอร์ไอคิวสูง) โดยอาจทำตัวเป็นผู้ช่วยคุณครู เป็นผู้ควบคุมกฎ คอยคุมความประพฤติของเพื่อนๆ หรืออาจไปถึงทำตัวข่มเพื่อนๆ ทั้งการใช้กำลัง และไม่ใช้กำลัง
แนวทางช่วยเหลือ
ไม่ควรส่งเสริมพฤติกรรมนี้ เพราะยิ่งจะส่งเสริมความแตกต่างจากเพื่อน และการไม่อยู่ในกฏระเบียบมากขึ้น อาจจำเป็นต้องใช้การอธิบายยกตัวอย่าง ยกเหตุผลให้เข้าใจ และไม่ทำพฤติกรรมแบบนี้

เด็กแอสเพอร์เกอร์ไม่ยอมรับผิด ไม่ยอมรับว่าตัวเองผิด บกพร่อง ไม่ชอบถูกวิจารณ์ หรือถูกแนะนำ หากอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ เช่น การไม่เป็นที่ยอมรับ การที่แตกต่างจากเพื่อน ซึ่งอาจส่งผลให้มีพฤติกรรมตอบสนอง เช่น การโกหก แสดงอาการโกรธ แสดงอาการก้าวร้าว อาการโทษว่าเป็นความผิดคนอื่นได้
แนวทางช่วยเหลือ
หากเด็กแอสเพอร์เกอร์ทำผิด การวิจารณ์ตรงๆ หรือการว่ากล่าวโดยตรงจำเป็นต้องหลีกเลี่ยง เนื่องจากจะไปเพิ่มความโกรธ อาการไม่ยอมรับความผิด ควรใช้วิธีการพูดคุย และถามถึงเหตุผลว่าทำไมถึงยืนยันในเหตุผลนั้นๆ และพูดถึงความเป็นไปได้อื่นๆ ที่เป็นไปได้นอกเหนือจากที่ตัวเด็กแอสเพอร์เกอร์เข้าใจ เช่น การให้เขายอมรับว่าการสอน การวิจารณ์เป็นสิ่งที่จะทำให้เขาเก่งขึ้น และมีแต่คนที่เป็นห่วง และรักเขาเท่านั้นที่จะสอน จะวิจารณ์ และให้พยายามยอมรับในความรัก และเป็นห่วงนี้
ข้อดีของความหัวรั้น และไม่ยอมผิดสามารถทำให้เป็นด้านดีได้ โดยการให้เขาพัฒนาความมีเหตุผลที่คนอื่นยอมรับ ซึ่งอาจพัฒนาเป็นอาชีพที่จำเป็นต้องใช้การถกเถียง การแก้ต่าง ในอนาคตได้ เช่น นักพูด ทนายความ ฯลฯ

เด็กแอสเพอร์เกอร์ไม่ยอมแพ้ เขาจะไม่ยอมรับในความไม่เก่ง หรือสู้ไม่ได้ของเขา เป็นหนึ่งในสถานการณ์ไม่พึงประสงค์ ซึ่งอาจมีพฤติกรรมเช่น
- การเข้าไปอยู่กับเพื่อน หรือโลกในจินตนาการที่เขามีความสำเร็จมากกว่า เด็กแอสเพอร์เกอร์เขาทำไปเพื่อให้เขารู้สึกผ่อนคลายขึ้น (การมีเพื่อนหรือโลกจินตนาการไม่เป็นสิ่งปกติในเด็ก แต่จะเริ่มผิดปกติเมื่อโลกจินตนาการมีส่วนในการดำรงชีวิตมากกว่าโลกแห่งความจริง)
- การโทษสิ่งแวดล้อม โทษคนรอบข้าง ในสถานการณ์ที่ตัวเองไม่ชอบ อาจมีอาการโกรธ ก้าวร้าวจนควบคุมตัวเองไม่อยู่
แนวทางช่วยเหลือ
สอนให้เด็กแอสเพอร์เกอร์รู้ว่าไม่จำเป็นต้องเก่ง ต้องทำถูก ต้องชนะเสมอไป เช่นการยอมรับความจริงที่ว่าไม่มีใครทำถูก หรือชนะตั้งแต่ครั้งแรก ต้องแพ้เป็นก่อนถึงจะชนะได้ ฯลฯ
หากเด็กเริ่มมีโลกจินตนาการที่ชัดเจน และเริ่มนำมาใช้บ่อยครั้งขึ้น สามารถนำกลับมาสู่โลกความเป็นจริง เช่น การอ่านหนังสือให้ฟัง การเล่าเรื่องของประเทศต่างๆ ซึ่งจะเสริมให้เด็กมีจินตนาการ และอาจพัฒนาเป็นอาชีพ เช่น นักเขียน นักวาดภาพได้ในอนาคต

เด็กแอสเพอร์เกอร์ มักทำตัวเป็นศูนย์กลางของทุกอย่าง (Self-Centric) เช่น มักพูดถึงตัวเองอยู่เสมอ การไม่สนใจความคิดเห็นของคนอื่น (โดยเฉพาะเพื่อนวัยเดียวกัน) การถามถึงเหตุผลในกฏต่างๆ ซึ่งอาจทำให้คนรอบข้างคิดว่าเด็กเป็นก้าวร้าว หัวดื้อ
แนวทางช่วยเหลือ
ควรฝึกให้เด็กแอสเพอร์เกอร์เข้าใจถึงกฏระเบียบ และให้ทำพฤติกรรมที่ถูกต้องในการเข้าสังคม การสร้างกฏเกณฑ์ให้ตัวเด็กแอสเพอร์เกอร์มีความสำคัญ มีบทบาทรับผิดชอบในการทำงานที่มีผลกับผู้อื่น และคนอื่นจะได้รับผลกระทบหากไม่กระทำตามกฏนั้นๆ เช่น การสอนเด็กแอสเพอร์เกอร์ให้สนใจในความคิดของคนอื่น การสอนบทสนทนาเบื้องต้นในการเข้าสังคมโดยสนใจเพื่อนๆ

เด็กแอสเพอร์เกอร์ มีความรู้ลึก และสนใจเฉพาะด้าน
หลายคนมีความจำที่มากกว่าเด็กปกติทั่วไป อาจจดจำเรื่องที่สนใจได้อย่างมาก และรู้ลึกรู้จริง แต่เมื่อรวมกับการทำตัวเป็นศูนย์กลาง อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เข้าสังคมลำบาก เนื่องจาก เมื่อคุยกับเพื่อนจะเล่าแต่ความสนใจของตัวเอง จนเพื่อนๆ เบื่อ ไม่ชอบเล่นด้วย
แนวทางช่วยเหลือ
ควรสังเกตพฤติกรรมความสนใจ ว่าสนใจเรื่องใดเรื่องหนึ่งเกินกว่าปกติหรือไม่ และอาจจำเป็นต้องเก็บซ่อนสิ่งที่เริ่มสนใจอย่างหมกมุ่นไปบ้าง และหาสิ่งที่น่าสนใจอย่างอื่นมาชดเชย

เด็กแอสเพอร์เกอร์ ควบคุมอารมณ์ไม่เก่ง แสดงสีหน้าไม่เป็น
เด็กแอสเพอร์เกอร์เสแสร้งไม่เป็น มักพูดตรงๆ ซื่อๆ หลายคนมองว่าเป็นเด็กน่ารัก แต่เมื่อเขาโกรธ หรืออยู่ในสถานการณ์ไม่พึงประสงค์ อาจมีอาการก้าวร้าว พฤติกรรมรุนแรง
แนวทางช่วยเหลือ
ช่วงแรกอาจจำเป็นต้องเลี่ยงสถานการณ์การยั่วยุให้โกรธ ขณะเดียวกันจำเป็นต้องค่อยๆ ปรับพฤติกรรมการควบคุมอารมณ์ เช่น การฝึกให้รู้ตัวว่าอารมณ์เริ่มโกรธ ให้รู้ระดับของความโกรธ และพัฒนาจนให้เขาสามารถจัดการอารมณ์ได้ แต่จำเป็นต้องอาศัยเวลาในการฝึกฝน

วันศุกร์ที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2551

ที่มาของชื่อ Asperger

ที่มาของชื่อแอสเพอร์เกอร์ ซินโดรม (Asperger's Syndrome)
คำว่า แอสเพอร์เกอร์ซินโดรม มีที่มาจากชื่อของ ดร.ฮานส์ แอสเพอเกอร์ (Han Asperger) คุณหมอที่สังเกต ค้นพบ และพยายามวินิจฉัยกลุ่มของเด็กลักษณะนี้เมื่อปี ค.ศ.1944 แต่มาใช้เรียกเป็นชื่อกลุ่มอาการนี้เมื่อประมาณปี 1994

แอสเพอร์เกอร์ซินโดรมเป็นหนึ่งกลุ่มอาการ PDD (Pervasive Developmental Disorders) โดยอัตราการพบ 0.3 – 8.4 คน ใน 10,000 คน พบได้ทั้งในเด็ก และผู้ใหญ่

แอสเพอเกอร์กับประเทศไทย ยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก และปัจจุบันไม่มีชื่อที่แปลเป็นภาษาไทย บทความและการศึกษายังอยู่ในวงจำกัด แม้ในระดับผู้เชี่ยวชาญก็ตาม เพราะในต่างประเทศก็เพิ่งได้รับการพูดถึงในวงกว้างเมื่อประมาณไม่ถึงสิบปีมานี้

เด็กที่เป็นแอสเพอร์เกอร์ซินโดรม (ขอเรียกว่า เด็กแอสเพอร์เกอร์) ส่วนใหญ่จะสมองดี บางคนมีไอคิวสูงกว่าเด็กทั่วไปมากเนื่องจากเป็นการชดเชยทักษะทางสังคมที่จะด้อยกว่าเด็กทั่วไป เช่น การพูดจาไม่เหมาะสม การเข้ากับเพื่อนได้ยาก ไม่เข้าใจกติกา

ในต่างประเทศ (และเป็นไปได้สำหรับประเทศไทย) หลังจากมีการจัดกลุ่ม และตั้งเกณฑ์การวินิจฉัยแล้ว กลับพบว่ามีการพบผู้ใหญ่ที่เป็นแอสเพอร์เกอร์แต่ไม่รู้ตัวจำนวนมาก ซึ่งหลายคนมีชีวิตที่ลำบากเนื่องจากความไม่เข้าใจของคนรอบข้าง และสังคม

ปัจจุบันมีการวิจัยที่ยืนยันว่า การรู้และยอมรับเด็กแอสเพอร์เกอร์ตั้งแต่ก่อนปฐมวัย ประกอบกับใช้เทคนิคการสอนที่เหมาะสมบนพื้นฐานของความเข้าใจธรรมชาติเด็กแอสเพอร์เกอร์ จะช่วยให้เขาสร้างทักษะทางสังคม และปรับพฤติกรรมให้ใกล้เคียงกับเด็กปกติ และเป็นที่ยอมรับได้ตามปกติ

เด็กที่เป็นแอสเพอร์เกอร์ ไม่ใช่เด็กที่ป่วย หรือเป็นปัญหา
แต่มีความต่างในกระบวนการคิด และตรรกะที่แตกต่างไป

วันพุธที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2551

แอสเพอร์เกอร์ ผู้ไม่(ยอม)แพ้ และไม่(ยอม)ผิด

เอกลักษณ์ที่ชัดเจนอีกอย่างของผู้เป็น แอสเพอร์เกอร์คือ การไม่ยอมแพ้ และไม่ยอมรับผิด
มีความอดทนต่ำต่อการถูกวิจารณ์ จะทนไม่ได้กับสถานการณ์ที่ทำให้รู้สึกว่าตัวเอง ไม่เก่ง แพ้
ซึ่งมักจะมีผลที่ตามมาคือ พฤติกรรมการโกรธเกรี้ยว การคุมอารมณ์ไม่อยู่ ทำลายข้าวของ หรือ หนีจากสถานการณ์นั้นๆ ทั้งทางกายภาพ เช่น การวิ่งหนี การปลีกตัวเองออกห่างจากสถานการณ์ และ การหนีจากสถานการณ์นั้นๆ ทางจินตภาพ เช่นการสร้างเพื่อนในจิตนาการ เพื่อหาพื้นที่ที่เจ้าตัวรู้สึกสบาย
แอสเพอร์เกอร์จะไม่มีทางที่จะยอมรับว่าตัวเขาผิด ซึ่งจะมีทางออกหลายทางในความผิด เช่น
- การโทษคนรอบข้าง
- การหาเพื่อนในจินตนาการมารองรับความผิด
- การโกหก หรือการตะแบง
- การไม่ยอมรับกฎ หรือทำเป็นไม่เข้าใจกฏ หรือเถียงในกฏระเบียบที่กำหนดขึ้น
- การแสดงความโกรธ หรือก้าวร้าว
- ฯลฯ
เมื่อไม่ยอมรับถึงคำตำหนิ คำวิจารณ์ คำสอน และไม่อดทนต่อสถานการณ์ที่ทำไม่ได้ และรู้สึกว่าตัวเองไม่เก่ง จึงเป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้พอสมควร

สัญญาณของแอสเพอร์เกอร์ มักมาพร้อมกับการทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน ยิ่งมีกิจกรรมร่วมกันมากเท่าไหร่ จะยิ่งสังเกตอาการได้ชัดเจนมากขึ้น เช่น

อาการไม่รู้จักแพ้
- น้องอายุสี่ขวบ เล่นเกมงูตกบันได ขณะที่ตัวเล่นของน้องอยู่หลัง หรือเมื่อตัวเล่นตกในช่องที่โดนงูพาถอยกลับไป น้องจะมีอาการหงุดหงิดชัดเจน อาจมีการโกง การขอยกเว้นกฏ หากไม่ได้จะโกรธและล้มกระดาน แต่เมื่อเล่นครั้งต่อๆ ไปพร้อมอธิบายให้เข้าใจ ก็ดีขึ้น สามารถเล่นจบเกม แต่เมื่อเล่นจบแล้วผลว่าเขาแพ้ จะไม่ยอมและโกรธ มีการทิ้งของเล่น และบอกว่าไม่ชอบเล่นอีกต่อไป
- น้องอายุสี่ขวบ มีการเล่นแข่งกันขึ้นรถ ใครขึ้นรถก่อนชนะ(เพื่อล่อให้น้องขึ้นรถโดยง่ายดาย)ทุกครั้งจะปล่อยให้น้องเป็นผู้ชนะ แต่เมื่อมีใครเผลอขึ้นรถก่อนน้อง น้องจะโกรธ เช่น ร้องไห้ เตะ ตี กัด บ้าง

อาการไม่ยอมรับความพ่ายแพ้- น้องอายุห้าขวบ ขณะที่เรียนเทนนิส ครูจัดให้วิ่งแข่งกับนักเรียนอีกคนหนึ่ง แต่เมื่อวิ่งแข่งแพ้เพื่อน น้องกลับวิ่งออกจากสนาม และบอกว่า เขามีเพื่อนไดโนเสาร์ชื่อซู วิ่งเร็วกว่านี้ และยอมให้เขาขี่ด้วย (เพื่อนจินตนาการ ชื่อซู เป็นไดโนเสาร์)

อาการไม่ทนต่อสถานการณ์ที่เขาไม่เก่ง- น้องอายุห้าขวบ ขณะเรียนเทนนิส น้องเขาเริ่มฝึกตีลูก แต่ตีไม่โดน ขณะที่ผู้ปกครองนั่งข้างสนาม คอยตะโกนบอกว่าให้ตีช้าๆ ตามองลูก เมื่อตีไปซักพัก เขายังทำไม่ได้ อาการหงุดหงิดจึงเริ่มขึ้นด้วยการ ล้มตระกร้าที่ใส่ลูกของคุณครู ขว้างไม้ วิ่งออกจากสนาม พร้อมตะโกนบอกว่า "ทุกคนแกล้งเขา ทำให้เขาตีลูกไม่ได้" และเมื่อน้องโกรธแล้ว จะระงับอารมณ์ยาก การตี การกัดคนรอบข้างจึงมีให้เห็น

อาการไม่ทนต่อคำวิจารณ์ หรือสอน
- น้องอายุห้าขวบ ขณะนั่งรถเที่ยว น้องยังพูดคำบางคำไม่ชัด แต่เมื่อบอกให้พูดให้ชัดหลายๆ ทีเข้า น้องใช้มือตีคนที่สอนอย่างไม่รู้ตัว และเมื่อถามถึงเหตุผล น้องบอกว่า "ไม่ชอบที่มาบอกว่าหนู" ด้วยเสียงและสีหน้าที่เห็นชัดว่าโกรธ

วันอาทิตย์ที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

อัจฉริยะแอสเพอร์เกอร์

อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์, เซอร์ไอแซค นิวตัน อาจเป็น แอสเพอร์เกอร์

เมื่อไม่นานมานี้ มีรายงานการศึกษาวิจัยของมหาวิทยาลัยแคมบริดจ์และมหาวิทยาลัยอ็อกฟอร์ด เปิดเผยว่า นักวิทยาศาสตร์ชื่อก้องโลก 2 คน ป่วยเป็น แอสเพอร์เกอร์ซินโดรม (Asperger Syndrome) โรคลึกลับที่โลกเพิ่งค้นพบ เมื่อทศวรรษที่ผ่านมานี้เอง

รายงานการวิจัยจากมหาวิทยาลัยชื่อดัง 2 แห่งเผยว่า อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ นักคณิตศาสตร์และนักฟิสิกส์ที่มีชื่อเสียงโด่งดัง เจ้าของทฤษฎีสัมพันธภาพ E = MC2 และ เซอร์ไอแซค นิวตัน ผู้ค้นพบทฤษฎีแรงดึงดูดโลก อาจป่วยเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับความผิดปกติในสมอง นั่นก็คือโรค แอสเพอร์เกอร์ ซินโดรม (Asperger syndrome) ซึ่งเป็นโรคที่มีอาการและสาเหตุใกล้เคียงกับออทิสติก (Autism) โดยในงานวิจัยชิ้นนี้อ้างถึงพฤติกรรมของนักวิทยาศาสตร์ทั้ง 2 ท่านที่สอดคล้องกับอาการของผู้ป่วยโรคแอสเพอร์เกอร์ ว่า

อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ตอนสมัยเด็กๆ เป็นเด็กที่ค่อนข้างโดดเดี่ยว และมีอาการพูดซ้ำๆ แต่ก็หายป็นปกติตอนอายุได้ 7 ขวบ และมาผูกโยงเข้ากับเรื่องการสื่อภาษาที่สับสน เข้าใจยาก โดยเฉพาะการบรรยายในห้องเรียนที่ไอน์สไตน์รับผิดชอบสอนอยู่ในมหาวิทยาลัย 3-4 แห่ง

ส่วน เซอร์ ไอแซค นิวตัน นั้น โดนข้อหาว่าป่วยเป็นแอสเพอร์เกอร์ ก็เพราะเขาหมกมุ่นกับงานมากเกินไป มีเพื่อนน้อย และไม่ค่อยพูดคุยกับใคร รวมทั้งมีอาการประสาทและหวาดระแวงคุกคามเขาในช่วงบั้นปลายชีวิต

แม้ว่ารายงานชิ้นนี้จะมาจากการศึกษาวิจัยของมหาวิทยาลัยชื่อดังอย่างอ็อกฟอร์ดและแคมบริดจ์ แต่ก็มีผู้ไม่เห็นด้วย อย่าง ดร.เกลน อีเลียต นักจิตแพทย์จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซึ่งมีความเห็นแย้งในประเด็นที่น่าสนใจโดยใช้หลักการทางจิตวิทยาประกอบกับพฤติกรรมที่คนฉลาดเลิศทั่วไปมักจะเป็นกัน มาอธิบายพฤติกรรมแปลกๆ ของอัจฉริยะทั้งสองได้น่าฟังไม่น้อย อย่างเช่น ข้อหาการบรรยายไม่รู้เรื่องของไอนสไตส์นั้น ดร.เกลน กลับมองเห็นว่า เพราะไอน์สไตน์ฉลาดออกปานนั้น สิ่งที่เขาพูด เขาสื่อสารออกมา ก็ใช่ว่าคนทั่วไปจะเข้าใจได้ง่าย (เพราะไม่เช่นนั้น คงมีคนคิดทฤษฎีสัมพันธภาพออกก่อนเขาแล้วหละ) ฉะนั้นการฟังคำบรรยายจากอัจฉริยะ แล้วสับสน ไม่เข้าใจ ไม่รู้เรื่อง ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก ก็เหมือนอย่างที่เรามักพูดกันเล่นๆ สมัยเรียนว่า "วิชาไหนดอกเตอร์สอน วิชานั้นไม่รู้เรื่อง" ก็ใช่ว่าดอกเตอร์เขาสื่อสารไม่ดี แต่เพราะคนฟังนั่นเองแหล่ะที่หูไม่ถึงต่างหาก

ส่วนประเด็นของการแยกตัวเองนั้น ดร.เกลน บอกว่ามีความเป็นไปได้ที่จะมาจากสาเหตุเดียวกัน นั่นก็คือ ความเป็นอัจฉริยะในตัวเอง เพราะอัจฉริยะย่อมที่จะต้องหมกมุ่นครุ่นคิดในงาน หัวสมองคงแล่นปรู๊ดปร๊าดตลอดเวลา เพื่อค้นหาทฤษฎีใหม่ๆ เพื่อเอาชนะตัวเอง การจะให้มาเมาท์ มาคุยกับใคร ตามงานสังคมต่างๆ คงไม่ใช่เรื่องที่อัจฉริยะเขาจะทำกันหรอก เพราะการจะทำอย่างนั้น ล้วนเป็นสิ่งเสียเลาในสายตาของคนเป็นอัจฉริยะ เวลาที่มีเขาต้องเอาไปคิดงานคิดทฤษฎี ครั้นจะเข้าวงสังคมก็คุยไม่รู้เรื่อง เพราะฉลาดมากไป พอคนอื่นพูดคุยด้วยก็ไม่รู้เรื่องอีก เพราะคนพูดด้วยฉลาดน้อยไป จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่อัจฉริยะชอบที่จะเลือกการปลีกวิเวก อยู่กับตัวเอง อยู่กับงานดี เพราะนั่นทำให้เขามีเวลาเพิ่มมากขึ้น สำหรับการได้คิดอะไรฉลาดๆ ออกมาอีก

ว่าไปแล้วก็ชวนให้นึกถึงอัจฉริยะอีกคนหนึ่ง ที่ชีวิตของเขาถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนต์ เรื่อง A Beautiful mind ภาพยนต์ยอดเยี่ยมรางวัลออสการ์ปี 2002

หนังเรื่องนี้นำเค้าโครงเรื่องมาจากชีวิตจริงของ จอห์น แนช จูเนียร์ อัจฉริยะที่ป่วยเป็นโรคจิตเภท วันทั้งวันเขาจะไม่ทำอะไรเลย นอกจากคิดทฤษฎี พิสูจน์ความเป็นไปได้ ขีดเขียน หาข้อถูกผิด จนได้ทฤษฎีใหม่ออกมา แต่แล้วอยู่มาก็พบว่าตัวเองป่วยเป็นโรคจิตเภท โลกทั้งใบพังย่อยยับลงกับตา เมื่อความจริงกับความลวงมาผสานรวมอยู่ในโลกเดียวกัน ไม่สามารถบอกได้ว่าคนไหนอยู่ในโลกของความเป็นจริง คนไหนคือภาพลวงตาที่สมองสร้างขึ้นจากความเก็บกดของตัวเอง แต่สุดท้ายก็ด้วยความเป็นอัจฉริยะ คนฉลาดเลิศย่อมคิดออกว่าจะแยกความจริงกับความจริงเสมือนออกจากกันได้อย่างไร

หลายคนตั้งคำถาม…ทำไมอัจฉริยะมักต้องป่วยเป็นโรคจิตเภทหรือโรคสมอง หรือหากคิดในทางกลับกัน… เพราะเขาป่วยทางสมองเขาจึงเป็นอัจฉริยะ !!!

การจะอธิบายเรื่องนี้ก็ต้องมาทำความเข้าใจกับเรื่องของแอสเพอร์เกอร์ ซินโดรม กันเสียก่อน…

แอสเพอร์เกอร์ ซินโดรม (Asperger Syndrome) คือ ความผิดปกติของพัฒนาการด้านสังคม และการสื่อสาร จัดอยู่ในกลุ่มโรคพัฒนาการบกพร่องอย่างรุนแรงในเด็ก หรือ Pervasive Developmental Disorders (PDDs) โดยจะแสดงอาการออกมาให้เห็นตั้งแต่เล็กๆ พ่อแม่อาจสังเกตพบว่า ลูกมีพฤติกรรมแปลกจากเด็กทั่วไป เช่น ชอบเล่นของเล่นซ้ำๆ นั่งนิ่งๆ ไม่สบตา ชอบทำกิจกรรมเดิมๆ ซ้ำๆ ไม่ค่อยแสดงอารมณ์โต้ตอบ ไม่สามารถเรียนรู้ที่จะแสดงความรักได้หรือความพึงพอใจได้ แต่เด็กแอสเพอร์เกอร์นั้นจะไม่สูญเสียความสามารถทางการพูด คือ พูดได้เหมือนคนปกติ (ในขณะที่โรคใกล้เคียง คือ ออทิสติก เด็กจะมีปัญหาเรื่องการพูดมากกว่า รวมทั้งอาการผิดปกติอย่างอื่นที่รุนแรงกว่า ในอดีตจึงเข้าใจว่าแอสเพอร์เกอร์ ก็คือออทิสติก แต่เป็นออทิสติกที่มีศักยภาพสูงกว่า) เด็กแอสเพอร์เกอร์สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ และไม่ใช่เด็กปัญญาอ่อน ตรงกันข้ามเขาจะมีพรสวรรค์พิเศษในบางด้านมาทดแทน เช่น ความสามารถในการจำ ความสามารถทางการคำนวณ ความสามารถเชิงวิทยาศาสตร์ หรือความสามารถเชิงตรรกะ ดังนั้นปัญหาสำคัญของแอสเพอร์เกอร์ก็คือ การปฏิสัมพันธ์กับสังคมและบุคคลภายนอก

เด็กแอสเพอร์เกอร์ รักษาไม่หาย แต่อาการจะค่อยๆ ดีขึ้นเรื่อยๆ หากได้รับการดูแลอย่างถูกต้อง และเอาใจใส่จากผู้ปกครองและครูด้วย เพราะเด็กจะมีโลกของเขาเอง และจะอนุญาตให้คนที่เขาไว้ใจเท่านั้น ที่ได้เข้าไปสัมผัสโลกของเขา ทำให้โลกของเขามีเพียงเขาและผู้ใกล้ชิดเท่านั้น มีเด็กออทิสติก และแอสเพอร์เกอร์จำนวนมากที่ถูกหลงลืม เพราะความไม่เข้าใจโรค และเพราะไม่รู้จักโรคนี้ พ่อแม่ที่มีลูกป่วยเป็นโรคแอสเพอร์เกอร์ ในประเทศไทยยังต้องดิ้นรนขวนขวายหาความรู้ความเข้าใจตนเอง เพราะโรคนี้ยังเป็นโรคใหม่ที่เพิ่งแยกสาขาออกมาจากออทิสติกเมื่อไม่นานมานี้เอง

เด็กแอสเพอร์เกอร์ที่ไม่ได้รับการดูแลเป็นพิเศษ จะเกิดอาการแยกตัวออกจากสังคมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นโดดเดี่ยว เพราะเขาไม่สามารถเรียนรู้ที่จะเข้าไปทักทาย วิ่งเล่น หรือพูดคุยกับเด็กอื่นๆ ได้ เด็กอื่นไม่เข้าใจเขาก็คิดว่าเขาหยิ่ง ส่วนตัวเขาเองก็คิดว่าเป็นคนไม่มีค่า ไม่มีใครสนใจ สุดท้ายก็เลือกที่จะอยู่คนเดียวลำพัง

ตัวอย่างเด็กแอสเพอร์เกอร์ จากภาพยนต์อีกเรื่อง คือ Murcury Rising เป็นภาพยนต์เมื่อหลายปีก่อน ซึ่งเป็นเรื่องราวของเด็กแอสเพอร์เกอร์ (ในหนังเรียกออทิสติก) ที่ไม่สามารถสื่อความต้องการออกมาได้ ชอบทำอะไรซ้ำๆ กิจวัตรประจำวันต้องทำเหมือนเดิมตลอด ไม่สบตา แต่มีความเป็นเลิศทางด้านการถอดรหัส จนทำให้ครอบครัวต้องถูกฆาตกรรมเพราะความสามารถในการถอดรหัสของเขา

ภาพสะท้อนจากภาพยนต์นั้นมีความเป็นไปได้จริง…เด็กแอสเพอร์เกอร์บางราย มีความเป็นอัจฉริยะติดตัวมาแต่เกิด เสมือนเป็นการชดเชยความผิดปกติตามธรรมชาติ แต่พรสวรรค์ที่เข้าขั้นอัจฉริยะเหล่านี้ ไม่ได้ฉายแสงให้ปรากฏขึ้นกับทุกคนที่เป็นแอสเพอร์เกอร์ พรสวรรค์ของหลายรายดับวูบไป เพราะไม่มีใครช่วยเขาค้นหาหรือส่งเสริมเขาไปในทางที่ ตรงกับความสามารถพิเศษที่เขามี ซึ่งก็หมายความว่า คนที่เป็นแอสเพอร์เกอร์ ซินโดรมบางรายที่ได้รับการส่งเสริมในทางที่ตรงกับพรสวรรค์ของตนเอง เขาก็จะสามารถดึงเอาพรสวรรค์หรือความสามารถพิเศษที่มีในตัวเองนั้นออกมาได้ และกลายเป็น …อัจฉริยะ…ได้เช่นกัน

และนี่อาจจะเป็นคำตอบข้อหนึ่งในหลายๆ ข้อก็ได้ว่า ทำไมอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ และเซอร์ ไอแซค นิวตัน จึงมีไอคิวที่สูงมากกว่าคนปกติทั่วๆ ไป

ผลการศึกษาวิจัยของมหาวิทยาลัยแคมบริดจ์และมหาวิทยาลัยออกฟอร์ดอาจจะเป็นจริงก็ได้ หรือข้อโต้แย้งของ ดร.เกลน อาจจะถูกต้อง แต่ไม่ว่าข้อเท็จจริงจะเป็นอย่างไร ไอน์สไตน์และนิวตันจะป่วยเป็นแอสเพอร์เกอร์ ซินโดรมหรือไม่ ไม่มีใครตอบได้ แต่ทุกอย่างก็ดูเหมือนจะเป็นเหตุเป็นผลที่สอดรับกับความเป็นอัจฉริยะของคนทั้งคู่ได้เป็นอย่างดี

ก็คงเหมือนกับที่หลายคนชอบพูดกันว่า อัจฉริยะและปัญญาอ่อนอยู่ใกล้กันแค่เส้นแบ่งอันเบาบาง


ที่มา http://www.elib-online.com/doctors46/child_asperger001.html
นิตยสารใกล้หมอ ปีที่ 27 ฉบับที่ 5 มิถุนายน 2546