วันศุกร์ที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2551

ที่มาของชื่อ Asperger

ที่มาของชื่อแอสเพอร์เกอร์ ซินโดรม (Asperger's Syndrome)
คำว่า แอสเพอร์เกอร์ซินโดรม มีที่มาจากชื่อของ ดร.ฮานส์ แอสเพอเกอร์ (Han Asperger) คุณหมอที่สังเกต ค้นพบ และพยายามวินิจฉัยกลุ่มของเด็กลักษณะนี้เมื่อปี ค.ศ.1944 แต่มาใช้เรียกเป็นชื่อกลุ่มอาการนี้เมื่อประมาณปี 1994

แอสเพอร์เกอร์ซินโดรมเป็นหนึ่งกลุ่มอาการ PDD (Pervasive Developmental Disorders) โดยอัตราการพบ 0.3 – 8.4 คน ใน 10,000 คน พบได้ทั้งในเด็ก และผู้ใหญ่

แอสเพอเกอร์กับประเทศไทย ยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก และปัจจุบันไม่มีชื่อที่แปลเป็นภาษาไทย บทความและการศึกษายังอยู่ในวงจำกัด แม้ในระดับผู้เชี่ยวชาญก็ตาม เพราะในต่างประเทศก็เพิ่งได้รับการพูดถึงในวงกว้างเมื่อประมาณไม่ถึงสิบปีมานี้

เด็กที่เป็นแอสเพอร์เกอร์ซินโดรม (ขอเรียกว่า เด็กแอสเพอร์เกอร์) ส่วนใหญ่จะสมองดี บางคนมีไอคิวสูงกว่าเด็กทั่วไปมากเนื่องจากเป็นการชดเชยทักษะทางสังคมที่จะด้อยกว่าเด็กทั่วไป เช่น การพูดจาไม่เหมาะสม การเข้ากับเพื่อนได้ยาก ไม่เข้าใจกติกา

ในต่างประเทศ (และเป็นไปได้สำหรับประเทศไทย) หลังจากมีการจัดกลุ่ม และตั้งเกณฑ์การวินิจฉัยแล้ว กลับพบว่ามีการพบผู้ใหญ่ที่เป็นแอสเพอร์เกอร์แต่ไม่รู้ตัวจำนวนมาก ซึ่งหลายคนมีชีวิตที่ลำบากเนื่องจากความไม่เข้าใจของคนรอบข้าง และสังคม

ปัจจุบันมีการวิจัยที่ยืนยันว่า การรู้และยอมรับเด็กแอสเพอร์เกอร์ตั้งแต่ก่อนปฐมวัย ประกอบกับใช้เทคนิคการสอนที่เหมาะสมบนพื้นฐานของความเข้าใจธรรมชาติเด็กแอสเพอร์เกอร์ จะช่วยให้เขาสร้างทักษะทางสังคม และปรับพฤติกรรมให้ใกล้เคียงกับเด็กปกติ และเป็นที่ยอมรับได้ตามปกติ

เด็กที่เป็นแอสเพอร์เกอร์ ไม่ใช่เด็กที่ป่วย หรือเป็นปัญหา
แต่มีความต่างในกระบวนการคิด และตรรกะที่แตกต่างไป

ไม่มีความคิดเห็น: