วันอาทิตย์ที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

อัจฉริยะแอสเพอร์เกอร์

อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์, เซอร์ไอแซค นิวตัน อาจเป็น แอสเพอร์เกอร์

เมื่อไม่นานมานี้ มีรายงานการศึกษาวิจัยของมหาวิทยาลัยแคมบริดจ์และมหาวิทยาลัยอ็อกฟอร์ด เปิดเผยว่า นักวิทยาศาสตร์ชื่อก้องโลก 2 คน ป่วยเป็น แอสเพอร์เกอร์ซินโดรม (Asperger Syndrome) โรคลึกลับที่โลกเพิ่งค้นพบ เมื่อทศวรรษที่ผ่านมานี้เอง

รายงานการวิจัยจากมหาวิทยาลัยชื่อดัง 2 แห่งเผยว่า อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ นักคณิตศาสตร์และนักฟิสิกส์ที่มีชื่อเสียงโด่งดัง เจ้าของทฤษฎีสัมพันธภาพ E = MC2 และ เซอร์ไอแซค นิวตัน ผู้ค้นพบทฤษฎีแรงดึงดูดโลก อาจป่วยเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับความผิดปกติในสมอง นั่นก็คือโรค แอสเพอร์เกอร์ ซินโดรม (Asperger syndrome) ซึ่งเป็นโรคที่มีอาการและสาเหตุใกล้เคียงกับออทิสติก (Autism) โดยในงานวิจัยชิ้นนี้อ้างถึงพฤติกรรมของนักวิทยาศาสตร์ทั้ง 2 ท่านที่สอดคล้องกับอาการของผู้ป่วยโรคแอสเพอร์เกอร์ ว่า

อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ตอนสมัยเด็กๆ เป็นเด็กที่ค่อนข้างโดดเดี่ยว และมีอาการพูดซ้ำๆ แต่ก็หายป็นปกติตอนอายุได้ 7 ขวบ และมาผูกโยงเข้ากับเรื่องการสื่อภาษาที่สับสน เข้าใจยาก โดยเฉพาะการบรรยายในห้องเรียนที่ไอน์สไตน์รับผิดชอบสอนอยู่ในมหาวิทยาลัย 3-4 แห่ง

ส่วน เซอร์ ไอแซค นิวตัน นั้น โดนข้อหาว่าป่วยเป็นแอสเพอร์เกอร์ ก็เพราะเขาหมกมุ่นกับงานมากเกินไป มีเพื่อนน้อย และไม่ค่อยพูดคุยกับใคร รวมทั้งมีอาการประสาทและหวาดระแวงคุกคามเขาในช่วงบั้นปลายชีวิต

แม้ว่ารายงานชิ้นนี้จะมาจากการศึกษาวิจัยของมหาวิทยาลัยชื่อดังอย่างอ็อกฟอร์ดและแคมบริดจ์ แต่ก็มีผู้ไม่เห็นด้วย อย่าง ดร.เกลน อีเลียต นักจิตแพทย์จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซึ่งมีความเห็นแย้งในประเด็นที่น่าสนใจโดยใช้หลักการทางจิตวิทยาประกอบกับพฤติกรรมที่คนฉลาดเลิศทั่วไปมักจะเป็นกัน มาอธิบายพฤติกรรมแปลกๆ ของอัจฉริยะทั้งสองได้น่าฟังไม่น้อย อย่างเช่น ข้อหาการบรรยายไม่รู้เรื่องของไอนสไตส์นั้น ดร.เกลน กลับมองเห็นว่า เพราะไอน์สไตน์ฉลาดออกปานนั้น สิ่งที่เขาพูด เขาสื่อสารออกมา ก็ใช่ว่าคนทั่วไปจะเข้าใจได้ง่าย (เพราะไม่เช่นนั้น คงมีคนคิดทฤษฎีสัมพันธภาพออกก่อนเขาแล้วหละ) ฉะนั้นการฟังคำบรรยายจากอัจฉริยะ แล้วสับสน ไม่เข้าใจ ไม่รู้เรื่อง ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก ก็เหมือนอย่างที่เรามักพูดกันเล่นๆ สมัยเรียนว่า "วิชาไหนดอกเตอร์สอน วิชานั้นไม่รู้เรื่อง" ก็ใช่ว่าดอกเตอร์เขาสื่อสารไม่ดี แต่เพราะคนฟังนั่นเองแหล่ะที่หูไม่ถึงต่างหาก

ส่วนประเด็นของการแยกตัวเองนั้น ดร.เกลน บอกว่ามีความเป็นไปได้ที่จะมาจากสาเหตุเดียวกัน นั่นก็คือ ความเป็นอัจฉริยะในตัวเอง เพราะอัจฉริยะย่อมที่จะต้องหมกมุ่นครุ่นคิดในงาน หัวสมองคงแล่นปรู๊ดปร๊าดตลอดเวลา เพื่อค้นหาทฤษฎีใหม่ๆ เพื่อเอาชนะตัวเอง การจะให้มาเมาท์ มาคุยกับใคร ตามงานสังคมต่างๆ คงไม่ใช่เรื่องที่อัจฉริยะเขาจะทำกันหรอก เพราะการจะทำอย่างนั้น ล้วนเป็นสิ่งเสียเลาในสายตาของคนเป็นอัจฉริยะ เวลาที่มีเขาต้องเอาไปคิดงานคิดทฤษฎี ครั้นจะเข้าวงสังคมก็คุยไม่รู้เรื่อง เพราะฉลาดมากไป พอคนอื่นพูดคุยด้วยก็ไม่รู้เรื่องอีก เพราะคนพูดด้วยฉลาดน้อยไป จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่อัจฉริยะชอบที่จะเลือกการปลีกวิเวก อยู่กับตัวเอง อยู่กับงานดี เพราะนั่นทำให้เขามีเวลาเพิ่มมากขึ้น สำหรับการได้คิดอะไรฉลาดๆ ออกมาอีก

ว่าไปแล้วก็ชวนให้นึกถึงอัจฉริยะอีกคนหนึ่ง ที่ชีวิตของเขาถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนต์ เรื่อง A Beautiful mind ภาพยนต์ยอดเยี่ยมรางวัลออสการ์ปี 2002

หนังเรื่องนี้นำเค้าโครงเรื่องมาจากชีวิตจริงของ จอห์น แนช จูเนียร์ อัจฉริยะที่ป่วยเป็นโรคจิตเภท วันทั้งวันเขาจะไม่ทำอะไรเลย นอกจากคิดทฤษฎี พิสูจน์ความเป็นไปได้ ขีดเขียน หาข้อถูกผิด จนได้ทฤษฎีใหม่ออกมา แต่แล้วอยู่มาก็พบว่าตัวเองป่วยเป็นโรคจิตเภท โลกทั้งใบพังย่อยยับลงกับตา เมื่อความจริงกับความลวงมาผสานรวมอยู่ในโลกเดียวกัน ไม่สามารถบอกได้ว่าคนไหนอยู่ในโลกของความเป็นจริง คนไหนคือภาพลวงตาที่สมองสร้างขึ้นจากความเก็บกดของตัวเอง แต่สุดท้ายก็ด้วยความเป็นอัจฉริยะ คนฉลาดเลิศย่อมคิดออกว่าจะแยกความจริงกับความจริงเสมือนออกจากกันได้อย่างไร

หลายคนตั้งคำถาม…ทำไมอัจฉริยะมักต้องป่วยเป็นโรคจิตเภทหรือโรคสมอง หรือหากคิดในทางกลับกัน… เพราะเขาป่วยทางสมองเขาจึงเป็นอัจฉริยะ !!!

การจะอธิบายเรื่องนี้ก็ต้องมาทำความเข้าใจกับเรื่องของแอสเพอร์เกอร์ ซินโดรม กันเสียก่อน…

แอสเพอร์เกอร์ ซินโดรม (Asperger Syndrome) คือ ความผิดปกติของพัฒนาการด้านสังคม และการสื่อสาร จัดอยู่ในกลุ่มโรคพัฒนาการบกพร่องอย่างรุนแรงในเด็ก หรือ Pervasive Developmental Disorders (PDDs) โดยจะแสดงอาการออกมาให้เห็นตั้งแต่เล็กๆ พ่อแม่อาจสังเกตพบว่า ลูกมีพฤติกรรมแปลกจากเด็กทั่วไป เช่น ชอบเล่นของเล่นซ้ำๆ นั่งนิ่งๆ ไม่สบตา ชอบทำกิจกรรมเดิมๆ ซ้ำๆ ไม่ค่อยแสดงอารมณ์โต้ตอบ ไม่สามารถเรียนรู้ที่จะแสดงความรักได้หรือความพึงพอใจได้ แต่เด็กแอสเพอร์เกอร์นั้นจะไม่สูญเสียความสามารถทางการพูด คือ พูดได้เหมือนคนปกติ (ในขณะที่โรคใกล้เคียง คือ ออทิสติก เด็กจะมีปัญหาเรื่องการพูดมากกว่า รวมทั้งอาการผิดปกติอย่างอื่นที่รุนแรงกว่า ในอดีตจึงเข้าใจว่าแอสเพอร์เกอร์ ก็คือออทิสติก แต่เป็นออทิสติกที่มีศักยภาพสูงกว่า) เด็กแอสเพอร์เกอร์สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ และไม่ใช่เด็กปัญญาอ่อน ตรงกันข้ามเขาจะมีพรสวรรค์พิเศษในบางด้านมาทดแทน เช่น ความสามารถในการจำ ความสามารถทางการคำนวณ ความสามารถเชิงวิทยาศาสตร์ หรือความสามารถเชิงตรรกะ ดังนั้นปัญหาสำคัญของแอสเพอร์เกอร์ก็คือ การปฏิสัมพันธ์กับสังคมและบุคคลภายนอก

เด็กแอสเพอร์เกอร์ รักษาไม่หาย แต่อาการจะค่อยๆ ดีขึ้นเรื่อยๆ หากได้รับการดูแลอย่างถูกต้อง และเอาใจใส่จากผู้ปกครองและครูด้วย เพราะเด็กจะมีโลกของเขาเอง และจะอนุญาตให้คนที่เขาไว้ใจเท่านั้น ที่ได้เข้าไปสัมผัสโลกของเขา ทำให้โลกของเขามีเพียงเขาและผู้ใกล้ชิดเท่านั้น มีเด็กออทิสติก และแอสเพอร์เกอร์จำนวนมากที่ถูกหลงลืม เพราะความไม่เข้าใจโรค และเพราะไม่รู้จักโรคนี้ พ่อแม่ที่มีลูกป่วยเป็นโรคแอสเพอร์เกอร์ ในประเทศไทยยังต้องดิ้นรนขวนขวายหาความรู้ความเข้าใจตนเอง เพราะโรคนี้ยังเป็นโรคใหม่ที่เพิ่งแยกสาขาออกมาจากออทิสติกเมื่อไม่นานมานี้เอง

เด็กแอสเพอร์เกอร์ที่ไม่ได้รับการดูแลเป็นพิเศษ จะเกิดอาการแยกตัวออกจากสังคมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นโดดเดี่ยว เพราะเขาไม่สามารถเรียนรู้ที่จะเข้าไปทักทาย วิ่งเล่น หรือพูดคุยกับเด็กอื่นๆ ได้ เด็กอื่นไม่เข้าใจเขาก็คิดว่าเขาหยิ่ง ส่วนตัวเขาเองก็คิดว่าเป็นคนไม่มีค่า ไม่มีใครสนใจ สุดท้ายก็เลือกที่จะอยู่คนเดียวลำพัง

ตัวอย่างเด็กแอสเพอร์เกอร์ จากภาพยนต์อีกเรื่อง คือ Murcury Rising เป็นภาพยนต์เมื่อหลายปีก่อน ซึ่งเป็นเรื่องราวของเด็กแอสเพอร์เกอร์ (ในหนังเรียกออทิสติก) ที่ไม่สามารถสื่อความต้องการออกมาได้ ชอบทำอะไรซ้ำๆ กิจวัตรประจำวันต้องทำเหมือนเดิมตลอด ไม่สบตา แต่มีความเป็นเลิศทางด้านการถอดรหัส จนทำให้ครอบครัวต้องถูกฆาตกรรมเพราะความสามารถในการถอดรหัสของเขา

ภาพสะท้อนจากภาพยนต์นั้นมีความเป็นไปได้จริง…เด็กแอสเพอร์เกอร์บางราย มีความเป็นอัจฉริยะติดตัวมาแต่เกิด เสมือนเป็นการชดเชยความผิดปกติตามธรรมชาติ แต่พรสวรรค์ที่เข้าขั้นอัจฉริยะเหล่านี้ ไม่ได้ฉายแสงให้ปรากฏขึ้นกับทุกคนที่เป็นแอสเพอร์เกอร์ พรสวรรค์ของหลายรายดับวูบไป เพราะไม่มีใครช่วยเขาค้นหาหรือส่งเสริมเขาไปในทางที่ ตรงกับความสามารถพิเศษที่เขามี ซึ่งก็หมายความว่า คนที่เป็นแอสเพอร์เกอร์ ซินโดรมบางรายที่ได้รับการส่งเสริมในทางที่ตรงกับพรสวรรค์ของตนเอง เขาก็จะสามารถดึงเอาพรสวรรค์หรือความสามารถพิเศษที่มีในตัวเองนั้นออกมาได้ และกลายเป็น …อัจฉริยะ…ได้เช่นกัน

และนี่อาจจะเป็นคำตอบข้อหนึ่งในหลายๆ ข้อก็ได้ว่า ทำไมอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ และเซอร์ ไอแซค นิวตัน จึงมีไอคิวที่สูงมากกว่าคนปกติทั่วๆ ไป

ผลการศึกษาวิจัยของมหาวิทยาลัยแคมบริดจ์และมหาวิทยาลัยออกฟอร์ดอาจจะเป็นจริงก็ได้ หรือข้อโต้แย้งของ ดร.เกลน อาจจะถูกต้อง แต่ไม่ว่าข้อเท็จจริงจะเป็นอย่างไร ไอน์สไตน์และนิวตันจะป่วยเป็นแอสเพอร์เกอร์ ซินโดรมหรือไม่ ไม่มีใครตอบได้ แต่ทุกอย่างก็ดูเหมือนจะเป็นเหตุเป็นผลที่สอดรับกับความเป็นอัจฉริยะของคนทั้งคู่ได้เป็นอย่างดี

ก็คงเหมือนกับที่หลายคนชอบพูดกันว่า อัจฉริยะและปัญญาอ่อนอยู่ใกล้กันแค่เส้นแบ่งอันเบาบาง


ที่มา http://www.elib-online.com/doctors46/child_asperger001.html
นิตยสารใกล้หมอ ปีที่ 27 ฉบับที่ 5 มิถุนายน 2546

4 ความคิดเห็น:

Unknown กล่าวว่า...

บทความนี้ดีมากๆ เลยครับ ขอบคุณครับ

Unknown กล่าวว่า...

เยี่ยมมากเลยครับ บทความนี้

คลังปัญญาสาธารณชน กล่าวว่า...

font ตัวเล็กกว่าหนวดมดอีก สงสัยเอาไว้ให้มดอ่านมั้ง

Unknown กล่าวว่า...

อายุ28ปีแล้วเพิ่งจะรู้ว่าเป็นจะไปปรึกษาหมอที่ไหนได้ค่ะ